"ทักษะแห่งอนาคต" คืออะไร? มีเทรนด์ทักษะใดบ้างที่ควรรู้?
"ทักษะแห่งอนาคต" คืออะไร?
“ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” น่าจะเป็นข้อความที่เหมาะสมที่สุด ในการแสดงให้พวกเราเห็นว่า “ความรู้” ไม่ใช่สิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดในการจัดการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนในยุคศตวรรษที่ 21 เนื่องจากความรู้ต่าง ๆ ในยุคนี้มักอยู่ในรูปแบบ “VUCA” ซึ่งเป็นคำที่ย่อมาจาก V-Volatility (การเปลี่ยนไว), U-Uncertainty (ความไม่แน่นอน), C-Complexity (ความซับซ้อน) และ A-Ambiguity (ความคลุมเครือ) ความรู้ต่าง ๆ จึงมีลักษณะของความไม่แน่นอนสูง พยากรณ์ได้ยาก และคลุมเครือ ซึ่งเป็นความจริงที่พวกเราและเด็ก ๆ ทุกคนต้องเผชิญอยู่ในโลกปัจจุบัน
ทุกวันนี้ ความรู้นอกจากจะถูกค้นหา และเข้าถึงได้ง่ายจากทุกสถานที่ และทุกเวลาที่ต้องการ เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแล้ว ความรู้ยังมีอายุที่สั้นลง และล้าสมัยได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น มันจึงสำคัญมากที่เราจะต้องสอนให้เด็กๆ เข้าใจว่า “ความรู้ถูกสร้างมาได้อย่างไร และรู้ว่าแม้วันนี้ความรู้จะถูกสร้างขึ้นมาแล้ว มันก็อาจถูกล้มและเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน” และยังมีสิ่งอื่นอีกที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความรู้ นั้นก็คือ “ทักษะ” (Skills) โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า “ทักษะแห่งอนาคต” อันหมายถึง ทักษะที่ถูกคาดการณ์จากสถานการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันว่าจะเข้ามามีอิทธิพลและบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในอนาคตอันใกล้ และหากใครเฉียบแหลมที่จะพัฒนา ฝึกฝน และประยุกต์ใช้ทักษะดังกล่าวได้ก่อน ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะรุ่งโรจน์ และประสบความสำเร็จในยุคที่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกำลังรุดมาถึง โดยหากจะพูดถึงประเภทของทักษะแห่งอนาคตคร่าว ๆ เราอาจสามารถสรุปจากเกณฑ์โดยปกติทั่วไป ดังนี้
ประเภทของทักษะแห่งอนาคต
- Hard Skills คือ ทักษะหรือความสามารถที่ใช้ในการทำงานในแต่ละสายอาชีพ ซึ่งสามารถวัดประเมินผลได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การอ่าน การเขียน การคำนวณ การทำบัญชี การเล่นกีฬา การเขียนโปรแกรม การวาดภาพ การวิจัย การทำอาหาร การใช้เครื่องมือต่าง ๆ เป็นต้น
- Soft Skills คือ ทักษะหรือความสามารถเฉพาะบุคคลที่ใช้เครื่องมือวัดหรือประเมินเป็นระดับคะแนนได้ยาก เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การเป็นผู้นำ การบริหารเวลา มนุษย์สัมพันธ์ การปรับตัว การควบคุมอารมณ์ เป็นต้น
สำหรับวิธีการแยกแยะว่า ทักษะใดเป็น Hard skills หรือทักษะใดเป็น Soft skills โดยทั่วไปแล้ว อาจใช้หลักการ ดังต่อไปนี้
- Hard skills เป็นเรื่องของวิชาชีพ (Professional) ในขณะที่ Soft skill มีความเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพ (Personality)
- Hard skills เป็นทักษะซึ่งสามารถใช้เครื่องมือวัด ประเมิน หรือทดสอบได้อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนกว่า Soft skills
- การใช้ Hard skills จะเป็นการใช้ทักษะกับสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา ในขณะที่การนำ Soft skills มาใช้จำเป็นต้องเข้าใจบริบทและประยุกต์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์
อ่านบทความเกี่ยวกับ “Soft Skills ที่ต้องมีในยุค AI เพิ่มเติมได้ที่ มารู้จัก “Soft Skills” ที่ต้องมีในยุค AI เพื่อให้ “คุณ” ไม่ต้องกลัว Disrupt – เป็นที่ต้องการของตลาดงาน
ในอนาคต “ลูกหลานของเราอาจจะต้องทำงานในอาชีพที่ไม่เคยมี ด้วยเครื่องมือที่เราเองก็ยังไม่เคยรู้จักมาก่อน” ซึ่ง Professor Kar Yan Tam คณะบดี School of Business and Management, Hong Kong University of Science and Technology (HKUST) ได้คาดการณ์ว่า กว่า 85% ของงานที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2030 นั้น เราอาจจะยังไม่สามารถระบุได้ว่า มันจะเป็นอาชีพหรือตำแหน่งงานอะไรบ้าง แต่ทักษะของงานเกิดใหม่ในโลกอนาคตจะเป็นการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ รวมถึงการอาศัยความชำนาญด้านดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในการทำงาน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า เทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ กำลังเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เปลี่ยนวิธีคิดของเราต่อการเรียนรู้และการทำงาน และการผนวกการเรียนรู้ทักษะแห่งอนาคตเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนจึงกำลังกลายเป็นภารกิจสำคัญในหลาย ๆ สถาบัน ตลอดจนในบรรดาปักเจกบุคคลที่เองที่อยากจะเตรียมตัวให้พร้อม และอัปเดตทักษะของค์ความรู้ของตัวเองอยู่เสมอ
จับตา 7 เทรนด์ทักษะแห่งอนาคตที่กำลังมาแรง
(อ้างอิงและสรุปจาก The Matter)
1. ทักษะแห่งอนาคต Coding literacy : การเข้าใจเรื่องระบบ และการเขียนโค้ด
ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในการบรรจุวิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือ Coding เข้าไปในหลักสูตรการศึกษาแก่เยาวชนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เพราะการพัฒนาโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ต่างๆ มีความสำคัญต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจทั้งโลก จะเป็นทักษะสำหรับทุกคนที่ไม่อยู่แค่ในภาควิชาคอมพิวเตอร์
2. ทักษะแห่งอนาคต Students as creators : การสนับสนุนให้ผู้เรียนเป็นนักคิดสร้างสรรค์
โลกยุคใหม่ผู้เรียนจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับ (passive) มาเป็นผู้สร้าง (active) ด้วยพลังของเทคโนโลยีที่เปิดกว้างและให้โอกาสทุกคนสามารถแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ และสร้างผลงานของตัวเองได้ง่ายๆ ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ในมือ โดยปราศจากข้อจำกัด และการปิดกั้นทางความคิดจากกรอบการเรียนแบบเดิม
3. ทักษะแห่งอนาคต Empathy and Emotion Understanding : การสร้างความรู้สึกนึกคิดและความเข้าใจผู้อื่น
การศึกษาคือการสร้างมนุษย์ ไม่ใช่สร้างหุ่นยนต์ ทักษะแบบมนุษย์ เช่น ความเข้าใจและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน จึงเป็นสิ่งที่โลกแห่งการทำงานกำลังต้องการ การส่งเสริมความเป็นมนุษย์ เพิ่มเติมความเข้าอกเข้าใจทั้งตนเองและผู้อื่น จึงเป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญของคนในยุคแห่ง AI ซึ่งหุ่นยนต์ยังไม่สามารถทำได้
4. ทักษะแห่งอนาคต Collaborative Learning : การเรียนรู้ร่วมกัน
โลกของความสำเร็จ การทำงาน และการแก้ปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นได้จากการร่วมมือกันตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน ในแต่ละส่วนงานคุณสมบัติสำคัญที่บริษัทแทบทุกแห่งได้กำหนดไว้ในทักษะสำคัญในการรับเข้าทำงาน คือ สามารถทำงานเป็นทีมและร่วมมือกับผู้อื่นได้ดี
5. ทักษะแห่งอนาคต Individualized Learning: การเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับผู้เรียนที่แตกต่างกัน
นักการศึกษาสมัยใหม่ต่างให้ความเห็นว่าความแตกต่างของเด็ก ๆ ต้องการรูปแบบการเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจงเพื่อพัฒนาจุดแข็งหรือลักษณะเฉพาะของแต่ละคน จะเน้นพัฒนาทักษะทางสังคม (Soft skill) หรือทักษะที่จะทำให้มนุษย์แตกต่างจากเครื่องจักร เช่น การใช้ภาษา การติดต่อสื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ความเป็นมิตร การมองโลกในแง่ดี บุคลิกและการแสดงออกทางสังคม ความเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะสำคัญที่โลกแห่งการทำงานกำลังต้องการ
6. ทักษะแห่งอนาคต Family and Community Involvement: การมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน
ครอบครัวและสภาพแวดล้อมรอบข้างล้วนมีผลกับการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยตรงการอบรมและให้การศึกษา ไม่ได้เป็นภาระของโรงเรียน หรือครูอาจารย์ แต่ทั้งครอบครัวและชุมชนรอบข้างของเด็กๆ จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ให้รอบด้าน
7. ทักษะแห่งอนาคต Redesigning learning Spaces: การออกแบบพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
โรงเรียนของไทยมีลักษณะที่เป็นแบบแผน มีครูมายืนหน้าชั้นและพูดให้เด็กฟังฝ่ายเดียว ห้องเรียนในโลกสมัยใหม่จึงควรถูกคิด และออกแบบใหม่ไปสู่ห้องเรียนที่ยืดหยุ่น เป็นห้องเรียนที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ จับกลุ่ม เปลี่ยนกลุ่ม ล้อมวงเพื่อปรับรูปแบบการเรียนรู้จากกันและกันได้อย่างอิสระ
และสุดท้าย เราคงต้องสอนเด็กๆ ว่า “จงอย่าเก่งแค่ด้านเดียว แต่จงเป็นผู้มีความรู้แบบตัวT” เพราะ ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างแท้จริง จะมีทักษะโดยรวมแบบแขนของอักษร T ซึ่งแสดงถึงความกว้างของการรอบรู้เรื่องราวต่าง ๆ และขาของตัว T จะเป็นตัวแทนของความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และประสบการณ์ในงานที่รับผิดชอบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การทำงานในอนาคตจะเป็นโลกของคนที่มีทักษะหลากหลาย และมีความรู้แบบข้ามสายงานจนสามารถสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ขึ้นได้ งานประจำแบบเป็นกิจวัตร หรือ Rountine job สำหรับมนุษย์จะค่อยๆ หมดไป และถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ สถาบันการศึกษายุคใหม่จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรจากเดิมที่สอนเป็นรายวิชา และขาดการเชื่อมโยงถึงกันเป็นการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ที่ไม่มุ่งแต่การให้องค์ความรู้ตามเนื้อหาของรายวิชาแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เน้นไปที่การพัฒนาทักษะประเภท Hard skills ในรูปแบบของฐานสมรรถนะโดยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ และเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะประเภท Soft skills เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking), ความเอาใจใส่และเข้าใจ (Empathy) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ควบคู่ไปกับการสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวของผู้เรียนเอง
เรียบเรียงโดย อาจารย์ธิติ ธีระเธียร
ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาครูและนักเทคโนโลยีทางการศึกษา
StarfishLabz และ Starfish Academy
มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม
Related Courses
การสร้างรายได้จากสติกเกอร์ Line
เมื่อยุคเปลี่ยนไปการสื่อสารกันในชีวิตประจำวันเปลี่ยนตาม จากการพูดคุยกลายเป็นการพิมพ์คุยกัน การสร้างสติกเกอร์ไลน์จึงเป็นอาชีพ ...
การทำงานแบบทีม ทักษะจำเป็นยุคดิจิทัล (Collaboration skill)
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้ว่า การทำงานร่วมกันเป็นอย่างไร ทำไมเราต้องทำงานกับผู้อื่น แล้วเมื่อต้องทำงานร่วมกันแล้วจะส่งเสริมใ ...
การทำงานแบบทีม ทักษะจำเป็นยุคดิจิทัล (Collaboration skill)
เจาะลึกทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เด็กรุ่นใหม่ต้องมีการปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และต้องมีทักษะอะไรบ้างเพื่อรองรับกับอ ...
Starfish Learning Hub แหล่งเรียนรู้สร้างทักษะแห่งอนาคต
การเรียนรู้ของเด็กยุคใหม่ไม่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนอีกต่อไป การเรียนรู้นอกห้องเรียนจึงเป็นอีกหนึ่งการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กได้เ ...