ด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน เรียน หรือแม้การใช้ชีวิตประจำวันล้วนใช้เทคโนโลยีทั้งสิ้น เช่นเดียวกับระบบการศึกษาที่ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมการศึกษา อันนำไปสู่การเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
การขับเคลื่อนพัฒนาระบบการศึกษา พัฒนาโรงเรียน ครู และเด็ก จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมในทุกด้าน ดังนั้น นวัตกรรมทางการศึกษา ซึ่งหมายถึงนวัตกรรมที่จะช่วยให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพมากขึ้นในตัวผู้สอนและผู้เรียน จึงมีความสำคัญมากขึ้น แต่ด้วยคำว่านวัตกรรม หลายคนมักจะกังวล และมองว่าจะต้องประดิษฐ์ สร้างสรรค์ หรือทำอะไรมากมายเพื่อให้ได้มา
“จริงๆ แล้ว นวัตกรรมการศึกษา คือกระบวนการแก้ปัญหา ซึ่งในระบบการศึกษา การบริหารจัดการโรงเรียนย่อมมีปัญหาในหลาย ๆ เรื่องที่ต้องแก้ และการพัฒนาการศึกษา ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย การสร้างนวัตกรรมตอบสนองกับปัญหาการศึกษา เป็นการค้นหากระบวนการคิดในเชิงนวัตกรรม คิดเชิงระบบ เพื่อค้นหาต้นตอของปัญหาและร่วมกันแก้ การสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา จึงเป็นเรื่องง่ายหากทุกคนรู้ถึงต้นเหตุของปัญหา และร่วมหาแนวทางแก้ปัญหา”
เมื่อทุกคนสามารถคิดค้นกระบวนการแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ สิ่งนั้นจะถูกเรียกว่า นวัตกรรมทางการศึกษา จุดเริ่มต้นที่ทำให้สามารถคิดค้นสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาได้นั้น ต้องเริ่มจากวิธีคิด จะทำอย่างใดก็ได้ให้บรรลุแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้น หลายครั้งที่ผ่านมา อุปสรรคที่ทำให้ทุกคนไม่คิดสร้างนวัตกรรม เพราะจะกลัว มองไม่ออกว่านวัตกรรมคืออะไร และคนทำงานไม่ว่าจะเป็น ผู้อำนวยการ ครู โรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา หรือศึกษานิเทศก์ ล้วนขาดการคิดเชิงระบบ
นวัตกรรมเกิดจากการคิดเชิงระบบ มองเห็นภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งสมรรถนะในการคิดแต่ละคน ที่ได้รับการปลูกฝังพัฒนาและการเรียนรู้ย่อมต่างกัน ทำให้เมื่อเกิดปัญหาหลายคนจึงแก้ไม่ได้ ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ทั้งที่ หากทุกคนเจอต้นตอปัญหา สาเหตุสำคัญของปัญหา ร่วมกันคิดปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ต้องแก้อย่างไร เมื่อเกิดจุดที่ทำให้ทุกคนรู้จักกระบวนการแก้ปัญหาได้ ย่อมทำให้เกิดนวัตกรรม
“นวัตกรรมทางการศึกษา” เป็นวิธีการอะไรก็ได้ ที่ทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งการจะทำให้ผู้บริหารโรงเรียน ครู สร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษาได้ต้องทำให้ผู้บริหาร ครูมีพลัง และไม่กลัวที่จะแก้ปัญหา
ทุกการทำงานย่อมมีปัญหาให้แก้ไข ซึ่งการแก้ปัญหาต่าง ๆ ส่วนตัวมองว่าเป็นนวัตกรรม เพราะทุกกระบวนการคิดค้นย่อมก่อให้เกิดสิ่งใหม่ และทำให้สิ่งที่เป็นปัญหาดีขึ้น ได้รับการแก้ไข อย่าง ตอนย้ายมาอยู่ สพป.เชียงใหม่ เขต 2 ที่นี่มีประเด็นเรื่องการสื่อสาร จึงได้สอบถามถึงสิ่งที่สำนักงานเขตฯมีอยู่แล้ว ซึ่งมีทั้งคน มีทั้งเทคโนโลยี แม้จะไม่มีงบประมาณ จึงได้แนะนำให้นำสิ่งที่มีอยู่มาใช้ในการแก้ปัญหาด้านการสื่อสาร โดยใช้เฟสบุ๊ค สื่อโซเซียลมีเดียให้เกิดประโยชน์ มีการถ่ายทอดสด และนำข้อมูลการสื่อสารไปโพสในเฟสบุ๊ค ทำให้ทุกคนสามารถสื่อสารร่วมกันได้ และมีช่องทางในการสื่อสารข้อมูลเบื้องต้น ปัญหาก็ได้รับการแก้ไข นี่ก็คือ “นวัตกรรม”
สิ่งที่เป็นอุปสรรค ทำให้การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อตอบสนองปัญหา มาจากรากฐานของการศึกษา เพราะต้องยอมรับว่าอดีตไม่ได้มีการสอนให้เด็กคิดเชิงระบบ คิดวิเคราะห์ เมื่อทุกคนเห็นปัญหาเดียวกันมักจะแก้ด้วยรูปแบบเดียวกัน ทั้งที่ใช้วิธีการเดิม รูปแบบเดิมไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก็จะแก้เหมือนเดิม เนื่องจากคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร ดังนั้น การจะทำให้โรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู คิดนวัตกรรมทางการศึกษาและนำมาใช้ได้จริง เกิดประโยชน์กับเด็กจริงๆ ต้องสร้างนักนวัตกร สู่องค์กรแห่งนวัตกรรม
โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมการศึกษา จะอยู่ที่ผู้บริหารโรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งการคิดเชิงนวัตกรรมต้องเริ่มจากที่มีผู้จุดประกายความคิด ตั้งคำถาม ช่วยค้นคว้าหาความรู้ ศึกษาตัวอย่างนวัตกรรม วิธีการแก้ปัญหาของโรงเรียนอื่นๆ และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน
การพัฒนา ยกระดับคุณภาพการศึกษา ต้องใช้นวัตกรรมทางการศึกษา ต้องมีการทำงานเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง มีเครือข่ายในการทำงาน เครือข่ายความคิดเชิงวิชาการ เพื่อร่วมแบ่งปันความคิด และวิธีปฎิบัติร่วมกัน
โมเดลนวัตกรรมการศึกษาและการคิดเชิงระบบจะเกิดขึ้นได้ มองว่าต้องมีทีมโค้ช หรือทีมสนับสนุน อย่าง ทีมศึกษานิเทศก์ หรือหน่วยงานภายนอกเข้าสนับสนุนการทำงานของผอ. ครู ทำให้เกิดการพัฒนาและการสร้างความคิดเชิงนวัตกรรม เพื่อให้ได้ความรู้เชิงนวัตกรรม ทั้งมิติของการพัฒนาให้เกิดผอ. ครูที่มีความคิดเชิงนวัตกรรม รับผิดชอบในการแก้ปัญหา กระตุ้นให้ทุกคนทบทวนงาน สนับสนุนในสิ่งที่ผอ. ครูขาด และสร้างเวทีระดมเครือข่าย เติมการจัดการร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม การจะสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา ผู้บริหาร ครูทุกคนสามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ในโรงเรียนของตนเอง แต่ไม่ควรจะนำเพียงคำสั่งในเชิงนโยบาย ควรสร้างนวัตกรรมการทำงาน โดยเฉพาะผู้บริหารอย่าเป็นผู้นำที่มีอัตตาอย่างเดียว ควรเป็นผู้ช่วยสร้าง ขับเคลื่อนและติดตาม เป็นนักคิด นักพัฒนานวัตกรรม รวมถึงครูต้องอย่ากลัว ต้องเริ่มกล้าที่จะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการช่วยแก้ปัญหา พัฒนาสิ่งต่างๆให้ดียิ่งขึ้น
นายพิเศรษฐ์ ไชยสุภา
รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่
(สพป.เชียงใหม่) เขต 2
Related Courses
การฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอย (Learning loss)
เรียนรู้ผลกระทบของ Learning Loss ที่ส่งกระทบถึงผู้เรียน ในภาพรวมของประเทศเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้ 5ม ...



การฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอย (Learning loss)
กล่องการเรียนรู้ Learning Box
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ และเด็กจำเป็นต้องเรียนที่บ้าน Learning box ...



Scenario Based Learning วิธีการเรียนแบบไม่ให้ Loss
การจัดการเรียนรู้โดยใช้ฉากทัศน์เป็นฐาน ทำให้นักเรียน เรียนรู้ผ่านสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับความจริง และช่วยพัฒนาทักษะในการทำ ...



Scenario Based Learning วิธีการเรียนแบบไม่ให้ Loss
คู่มือการสอนนวัตกรรม 3R ฉบับบ้านปลาดาว
คงจะดีถ้าการอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป นวัตกรรม3R โรงเรียนบ้านปลาดาว ได้ออกแบบชุดการสอนที่ง่ายและเกิดผล ...



คู่มือการสอนนวัตกรรม 3R ฉบับบ้านปลาดาว
Related Videos


กล้าสอน KLA-SON KN ENJOY MODEL


วิจัยและนวัตกรรมด้านการจัดการเรียนรู้ สู่ครูเชี่ยวชาญตามเกณฑ์ วPA


โรงเรียนพัฒนาตนเอง : โรงเรียนวัดสันป่าสัก | โรงเรียนบ้านหนองเงือก
![Starfish Country Home School Foundation [ENG]](https://img.youtube.com/vi/eeT-qLyd87U/mqdefault.jpg)
