เครื่องมือประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง และ Competency-based Assessment ตอนที่ 1

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมาบนเวที TEP LEARNING ยกเครื่องเรื่องการศึกษาไทย มีการเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวกับ “การประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง และการประเมินสมรรถนะของผู้เรียน” จัดโดย Starfish Education ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และอาจเป็นประโยชน์ต่อคุณครูหลาย ๆ ท่าน ที่กำลังเตรียมความพร้อมกับการปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นไปที่สมรรถนะของผู้เรียน ซึ่งก่อนอื่น เราอาจจะต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า “หลักสูตรฐานสมรรถนะแตกต่างจากหลักสูตรเดิม” ที่ใช้กันอยู่อย่างไร ?
หลักสูตรเดิมที่ใช้จะเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-Based Curriculum) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ยึดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมาย แต่ละกลุ่มสาระวิชาจะมีการกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัด เพื่อใช้ในการออกแบบเนื้อหา และกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถ บรรลุตามมาตรฐาน และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ ซึ่งจะประกอบด้วย ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (Attitude)
แต่หลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-Based Curriculum) จะต่อยอดมาจากหลักสูตรอิงมาตรฐาน คือ เน้นไปที่เรื่องของการพัฒนาผู้เรียนตามความถนัด ความชอบ หรือศักยภาพในแบบของตนเอง โดยเอาตัวชี้วัดเดิมที่มีทั้งความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ มาผสมเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นความสามารถ และเจตคติที่นำมาใช้ในการเรียนรู้ การทำงาน การใช้ชีวิต และการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ดังนั้น เมื่อมีการปรับการจัดการเรียนการสอนไปเป็นแบบฐานสมรรถนะ จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. เรียน
- เก่งในแบบของตัวเอง : มีการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนรายบุคคล (Personalization) ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง (Life-long learning)
- มีสุขภาวะ (Well-being) : มีการพัฒนาสุขภาพ ความฉลาดรู้ทางสังคม และอารมณ์อย่างสมดุล รอบด้านและเป็นองค์รวม
- เรียนไป ใช้งานเป็น : มีการพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็น รวมทั้งคุณธรรม จริยธรรม เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต และสามารถสร้างประโยชน์ต่อตนเอง และสังคม
- ยืดหยุ่นพร้อมปรับตัว : รู้เท่าทัน และสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและบริบทต่าง ๆ ได้
2. ด้านคุณครู
จากเดิมบทบาทของคุณครูเป็น “ผู้บอกความรู้” แต่จะเปลี่ยนเป็น “ผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้” โดยมีหน้าที่ในการกำหนดโจทย์ให้กับผู้เรียน และปล่อยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านกระบวนการ และวิธีการต่าง ๆ ทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาด้วยตัวเอง และนำไปสู่ความสามารถในการแก้ไขปัญหาตามโจทย์นั้น ๆ ได้ สุดท้ายจะทำให้ผู้เรียนเกิดความภูมิใจกับความสำเร็จที่เกิดจากความสามารถของตนเอง
3. ด้านห้องเรียน
ห้องเรียนจะเปลี่ยนไป เพราะการจัดการเรียนการสอนจะเน้นไปที่กิจกรรมการพัฒนาแบบองค์รวม เน้นการแก้ไขปัญหา (Problem Based Learning) หรือการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่ผู้เรียนสนใจ (Project Based Learning)ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียน คุณครูต้องกำหนดจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ มีการกำหนดงาน หรือสถานการณ์ที่ผู้เรียนจะต้องทำให้สำเร็จ จากนั้นจึงกำหนดเกณฑ์การปฎิบัติขึ้นมาว่า ลักษณะของความสำเร็จต้องเป็นอย่างไร ระดับไหน ซึ่งในส่วนนี้ก็จะนำไปสู่การประเมินผู้เรียน รวมถึงปรับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียน ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ๆ คือ
(1) สิ่งที่ต้องการรู้ : เป็นสิ่งที่ผู้เรียนต้องค้นคว้าด้วยตัวเอง ทำให้เกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่ผู้เรียนต้องการ หรือสนใจ
(2) สิ่งที่ควรรู้ : เป็นสิ่งที่คุณครูสอน และให้ความรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่ผู้เรียนควรจะต้องรู้ในเรื่องนั้น ๆ
(3) การทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น : ให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้มาลองแก้ไขปัญหา เป็นส่วนของ Problem Based Learning หรือ Project Based Learning ซึ่งเขาจะได้ทำงานกับเพื่อน ๆ และได้นำเสนอผลงานของตนเอง รวมถึงได้สะท้อนในสิ่งที่เขาได้เรียนรู้
4. ด้านการวัดและประเมินผลผู้เรียน
การประเมินผลไม่ได้วัดความรู้อย่างเดียว แต่เป็นการวัดผู้เรียนให้รอบด้าน ทั้งทักษะ และคุณลักษณะต่าง ๆ เน้นในเรื่องของสถานการณ์ และเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมา เช่น การที่เด็กจะสามารถแก้ไขสถานการณ์นั้นได้ หรือเด็กสามารถทำอะไรได้ประสบความสำเร็จจะต้องมีเกณฑ์อะไรบ้าง ซึ่งในส่วนนี้ จะทำให้คุณครูมีอิสระในการออกแบบการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลมากยิ่งขึ้น โดยนำสมรรถนะที่อยากให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนมาแตกเป็นองค์ประกอบหรือตัวบ่งชี้ Rubric และสร้างเครื่องมือในการวัดผลให้หลากหลายรูปแบบ เช่น การทดสอบ หรือปฏิบัติ การสังเกต การสัมภาษณ์ และแฟ้มสะสมงาน เป็นต้น
Related Courses
Peer Learning วิธีฟื้นฟู Learning Loss
ในคอร์สนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับ Peer Learning คืออะไร 5 รูปแบบของกิจกรรม Peer to Peer Learning ตัวอย่างก ...



ลักษณะพระสอนศีลธรรมมืออาชีพ
การเรียนรู้บทบาทภาระหน้าที่และเนื้อหาวิชาพระพุทธศาสนา การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning และอุดมการณ์ของความเป็นครู



ลักษณะพระสอนศีลธรรมมืออาชีพ
การสอนคณิตศาสตร์ (3R)
คณิตศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่เรามีเทคนิคดีๆ มาเป็นตัวช่วยในการสอน คณิตศาสตร์ของเราก็จะเป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่ ...



Play and Learn classroom design
Play and Learn classroom design ออกแบบห้องเรียนให้สนุกด้วยเล่นปนเรียน เรียนรู้ความหมายของการเล่นปนเรียน ประ ...



Related Videos


Success Story โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP)


เทคนิคการสอนภาษาไทยแบบ Active Learning สำหรับครูภาษาไทย

