เพื่อความเข้าใจในหลักการของโครงงานคุณธรรมขั้นเบื้องต้น จึงขอเขียนบทความแบบง่าย ๆ เพื่อให้คุณครู พระสอนศีลธรรม รวมทั้งน้อง ๆ นักเรียนที่กำลังทำโครงงานคุณธรรมหรือกำลังจะเริ่มทำ ได้เข้าใจเบื้องต้น และนำไปศึกษาต่อยอดเพิ่มเติมครับ
“โครงงานคุณธรรม” หรือที่คุณครู นักเรียนทำงานด้านคุณธรรมมักเรียกอีกอย่างว่า “โครงงานความดี” ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการที่ครู หรือพระสอนศีลธรรม ส่งเสริมให้นักเรียนร่วมกันทำความดี โดยนักเรียนเลือกประเด็นปัญหาที่มีความสนใจร่วมกันเกี่ยวข้องกับปัญหาทางด้านศีลธรรมคุณธรรมที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เช่น ในโรงเรียน ชุมชน เป็นต้น แล้วนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันผ่านการทำโครงงาน ด้วยกระบวนการทางปัญญาหรือหลักอริยสัจ 4 คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค โดยมีขั้นตอนการดำเนินโครงงานคุณธรรม 6 ขั้นตอน คือ
1.การตระหนักรู้ในปัญหา 2.การรวบรวมข้อมูล 3.การจัดทำร่างโครงงานคุณธรรม 4. การดำเนินการโครงงานคุณธรรม
5.การสรุปประเมินผลและเขียนรายงาน และ 6. การนำเสนอโครงงานคุณธรรม
การจัดการเรียนรู้ด้วยโครงงานคุณธรรม เป็นกิจกรรมที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาสติ สมาธิ และปัญญา หรือพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อย่างเป็นองค์รวมได้ ทั้งด้านพฤติกรรมด้านศีล คุณธรรม และปัญญาได้อย่างมีผลดีต่อนักเรียน เพราะว่านักเรียนที่ทำโครงงานคุณธรรมจะต้องใช้ทักษะ และวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลายอย่าง ทำให้สมองทำงานทุก ๆ ส่วน เริ่มตั้งแต่การมองเห็นปัญหา การทำให้ปัญหาต่าง ๆ สัมผัสได้มีความหมายต่อนักเรียน ต่อมาสมองก็ต้องค้นหาวิธีการที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหา ลงมือปฏิบัติจริง และเมื่อปฏิบัติได้สำเร็จแล้วก็จะเกิดความรู้สึกที่ดี อารมณ์ทางบวกติดอยู่กับงานนั้น ๆ ยิ่งการทำงานโครงงานคุณธรรมเป็นกลุ่ม การทำงานแบบร่วมมือร่วมพลัง (Collaborative Learning) ร่วมคิดร่วมทำ ก็จะยิ่งทำให้นักเรียนพัฒนาความรู้ไปถึงขั้นสูงสุด ซึ่งเรียกว่าเป็นความรู้แบบขยายประโยชน์สู่สังคม ทำให้สังคมเป็นสุขและเป็นหนึ่งเดียวกัน
ปัญหาในการทำโครงงานคุณธรรมของนักเรียน บางทีครู “เผลอสติ” "ขันติธรรมน้อย" คิดแสดงบทบาทมากเกินไป เริ่มตั้งแต่ครูเป็นคนตัดสินใจว่าจะให้นักเรียนทำเรื่องอะไร ออกแบบว่าจะทำอย่างไร เลยไปถึงจะแสดงผลงานอย่างไร นักเรียนจะมีบทบาทเป็นผู้ลงมือทำความดีจริง แต่ทำภายใต้การบอก การสั่งการของครู ทำให้โครงงานคุณธรรมในลักษณะนี้เป็น “ผลงานแบบฝีมือครู ลายมือนักเรียน” แต่การจัดการเรียนรู้ด้วยโครงงานคุณธรรมที่ถูกต้องหรือพึงประสงค์นั้นจะต้อง “เป็นผลงานแบบฝีมือนักเรียน ลายมือนักเรียน” ดังนั้น ในการทำโครงงานคุณธรรมที่จะได้ผลงานของนักเรียนอย่างแท้จริง ครูจำเป็นต้องถอยห่างออกมาจากบทบาทของการสอนโดยตรง มาเป็นผู้สนับสนุน เป็นผู้ชี้แนะ (Coach) หรือผู้เอื้ออำนวยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ (Facilitator) ครูต้องเป็นนักตั้งคำถาม ถามคำถามนำเก่ง ๆ ให้ผู้เรียนอธิบายมาก ๆ ซึ่งเป็นการสอนแบบเน้นนักเรียนเป็นสำคัญอย่างแท้จริง
การทำโครงงานคุณธรรมนอกจากจะเน้นผลด้านการพัฒนาสมองแล้ว ยังเป็นการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการความสนใจของนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนในวัยรุ่นที่มีพลังมากต้องแสดงออกอยู่เสมอ การทำโครงงานคุณธรรมจึงเป็นวิธีการใช้พลังงานของวัยรุ่นไปในทางที่ดี เกิดการเรียนรู้ที่ดี เมื่อพลังส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในงานแล้ว เยาวชนวัยรุ่นก็จะเหลือพลังอยู่น้อย โอกาสที่จะใช้พลังไปในทางที่ไม่ควรก็ต้องมีน้อยลง การสอนโดยเข้าชั้นเรียนธรรมดา ฟังครูบรรยาย ทำแบบฝึกหัด เตรียมสอบ สอบได้แล้วจบเลย จะทำให้ผู้เรียนมีพลังเหลือใช้อยู่มาก นอกจากนี้ Stephen R. Covey ยังเสนอว่า “...เกรดที่นักเรียนได้ในการเรียนรู้นั้นไม่มีความหมายใด ๆ เลย สิ่งที่มีความหมายที่สุดที่จะบอกฝีมือผู้เรียนได้อย่างดีก็คือ ในระหว่างเรียนนั้นผู้เรียนได้ลงมือทำลงมือปฏิบัติลงมือแสดงอะไรบ้าง ผลงานเหล่านี้จึงจะเป็นตัวชี้สำคัญ ว่าผู้เรียนประสบสำเร็จเพียงใด และมีความพร้อมต่องานในอนาคต ในตลาดแรงงาน ในความสามารถการแข่งขันของประเทศเพียงใด"
การทำโครงงานคุณธรรมจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้คงทนที่สุด เพราะผู้เรียนต้องคิดเอง ทำเอง ตัดสินใจเอง เลือกเอง พัฒนาเอง ได้เป็น “ผลงานแบบฝีมือนักเรียน ลายมือนักเรียน” อย่างแท้จริง ผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนที่ทำก่อให้เกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้านคุณธรรม พอเพียง วินัย ซื่อสัตย์ จิตอาสา.... เป็นต้น ตลอดทั้งทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และส่งผลกระทบที่ดีงามต่อสังคม ชุมชน และประเทศชาติ อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ผู้เขียน

พระมหานพดล ธมฺมานนฺโท
วิทยากรกระบวนการ ส่วนวางแผนและพัฒนาการอบรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, อาจารย์พิเศษจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, นักธรรมเอก ป.ธ.3, ปริญญาเอก (หลักสูตรการสอน) มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
บทความใกล้เคียง
“ กาลผ่าน วันเปลี่ยน แต่เรายังไม่เปลี่ยน ”

ในทุกเช้าที่เราลืมตาขึ้นมาบนโลก เราเคยสังเกตตัวเองหรือไม่ว่า เรากำลังปล่อยกายและใจของเราให้เผลอไผลไปกับสิ่งเร้าต่าง ๆรอบตัว เรา..มักชื่นชม และยินดี ที่ได้เห็นสิ่งที่สวยงาม สิ่งใดไม่สวย ไม่งาม ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากเชยชมเรา..อยากฟังแต่เรื่องร ...
ฟังเสียงหัวใจของเขาอย่างลึกซึ้ง : ตอนที่ 1

เหตุการณ์เร็วไวจริงครับ สองอาทิตย์ที่แล้วผมได้พูดเรื่องนี้กับลูกศิษย์ที่เป็นพระสอนศีลธรรมแกนนำอีสานรูปหนึ่ง ขณะนั่งรถไปอบรมครูที่เป็นกลุ่มตัวอย่างให้กับงานวิจัย ป.เอก นักศึกษาท่านหนึ่งที่ต่างจังหวัด ผมบอกว่า..“..ท่านคอยดูนะ เดี๋ยวเด็กเยาวชนจะออกมาประท้วงวิช ...
ทำไมการโกหกจึงเป็นการทำร้ายกัน

หากเราเริ่มต้นด้วยการโกหก หลอกลวง มันก็เป็นเรื่องยากที่จะจบด้วยความจริง มาดูว่าเมื่อเราเริ่มโกหก ราคาที่เราต้องจ่าย โอกาสและเวลาที่เราต้องสูญไป มีอะไรบ้าง1. การโกหกทำลายความ "ใกล้ชิด สนิทใจ" ระหว่างความสัมพันธ์ในทุกสถานะ เมื่อเริ่มโกหกก็มัก ...