อีกแง่มุมหนึ่งที่ต้องรู้ ของกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่
ถือว่าเป็นข่าวฮิตกันอยู่ช่วงนึงเลยก็ว่าได้ เกี่ยวกับ ”กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่” หรือ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ 28 พ.ศ.2564 ที่ว่าด้วยการยุติการตั้งครรภ์ ว่าอันที่จริงแล้วกฎหมายนี้จะออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ทำแท้งกันได้ง่ายขึ้น หรือช่วยลดการเกิดปัญหาคุณแม่วัยใสได้กันแน่
เรามีแง่มุมที่อธิบายง่ายๆ ให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจกฎหมายนี้ให้มากขึ้นมาฝากกันค่ะ
กฎหมายทำแท้ง คืออะไร?
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ 28 พ.ศ.2564 แก้ไขเพิ่มเติมความผิดฐานทำแท้งที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2499 มีผลเมื่อวันที่ 7 ก.พ.2564 ถือเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ในเรื่องนี้ฉบับใหม่ล่าสุดเลยทีเดียว
โดยสาระสำคัญที่แก้ไขยังคงหลักการเดิมว่า “ห้ามทำแท้ง” เว้นแต่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ โดยลดโทษต่ำลง จากปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังคงหลักการเดิมไว้คือ ผู้ทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด ต้องเป็นแพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น
โดยมีข้อกำหนดที่อธิบายง่ายๆได้ตามนี้
1. หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ต่อสุขภาพกายหรือจิตใจ พูดง่ายๆ คือการตั้งครรภ์นั้นจะเสี่ยงต่อชีวิตของแม่ที่ท้องนั่นเอง เช่น ครรภ์เป็นพิษ ท้องนอกมดลูก ฯลฯ กรณีนี้คุณหมอก็อาจจะเสนอให้ทำแท้งเพื่อรักษาชีวิตของแม่ไว้
2. มีความเสี่ยง หรือมีเหตุผลทางการแพทย์ว่า หากทารกคลอดออกมาจะผิดปกติทุพพลภาพอย่างร้ายแรง คุณหมอก็อาจจะเสนอให้ทำแท้งเป็นทางเลือกหนึ่ง
3. หญิงยืนยันว่ามีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น การโดนข่มขืน ในกรณีนี้ก็สามารถทำแท้งได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย
4. หญิงมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ยืนยันยุติการตั้งครรภ์ได้โดยสมัครใจ แต่ต้องทำแท้งโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
5. หญิงอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ยืนยันต้องการยุติการตั้งครรภ์ หลังเข้าสู่กระบวนการปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ รมว.สาธารณสุขประกาศกำหนด อันนี้จะต้องพิจารณาเป็นรายๆไป ขึ้นอยู่กับคุณหมอนั่นเอง
สรุปได้ว่า การทำแท้งนั้น ต้องเกิดจากความผิดปกติไม่จากฝั่งแม่ก็จากฝั่งลูกในท้อง รวมถึงการตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืน โดยสิ่งที่เพิ่มมาก็คือ ต้องมีอายุครรภ์ไม่ถึง 12 สัปดาห์สามารถทำได้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
พรบ.ทำแท้ง ไม่ใช่ทางออกของปัญหาท้องในวัยเรียน
ถ้าจะบอกว่ากฎหมายทำแท้งฉบับใหม่นี้ เป็นทางแก้สำหรับปัญหาท้องไม่พร้อม ปัญหาคุณแม่วัยใส ก็คงไม่ใช่ทางแก้เสียทีเดียวนัก เพราะนี่คือปลายเหตุ ไม่ใช่ต้นเหตุเลย แต่เรียกได้ว่าเป็นการลดปัญหาความเสี่ยงที่จะเกิดจากการไปทำแท้งเถื่อนเสียมากกว่า เช่น ความเสี่ยงที่จะตกเลือด ติดเชื้อ จนบางรายถึงกับเสียชีวิต คือช่วยให้ผู้ที่ต้องการจะยุติการตั้งครรภ์นั้น ไปรับบริการทางการแพทย์ได้ แบบไม่ต้องเสี่ยงว่าจะผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันระหว่างเรื่องของ “สิทธิ” ที่ว่าด้วยใครควรจะมีสิทธิ์? ในร่างกายของผู้หญิงที่เป็นแม่ ที่จะต้องสามารถตัดสินใจกับร่างกายของตัวเองได้? สิทธิของเด็กที่อยู่ในท้องที่ถือว่ามีชีวิตแล้ว? และเรื่องของความเชื่อในศาสนา ที่มองว่าการยุติการตั้งครรภ์นั้นเป็นบาป แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายนี้ก็ได้ผ่าน และมีผลบังคับใช้แล้ว
ท้องวัยใส ลดการเกิดได้ด้วยความเข้าใจ
นอกจากที่คุณพ่อคุณแม่ จะต้องส่งเสริมให้ลูกรู้เรื่องหน้าที่ และสิ่งที่ลูกต้องรับผิดชอบในวัยนี้อยู่แล้ว ก็ต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องเพศที่ถูกต้องด้วย วัยรุ่นเป็นวัยฮอร์โมนพลุ่งพล่าน เป็นวัยอยากรู้อยากเห็น การห้ามไม่ให้ลูกพี่เพศสัมพันธ์น่าจะไม่ใช่ทางของคุณพ่อคุณแม่ในยุค 2021 เพราะอย่างที่เรารู้กันดี ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ
ทางที่ถูกต้องคือ ควรส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้ และเข้าใจการมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้องปลอดภัย การป้องกันทั้งฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง ไม่เฉพาะเรื่องการตั้งครรภ์เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องโรคทางเพศสัมพันธ์มากมายที่น่ากลัวไม่แพ้กัน ก็จะลดความเสี่ยงเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นได้
Related Courses
ทำอย่างไรให้ลูกปลอดภัยจากโรคติดต่อ Covid-19
โรคโรคติดต่อ Covid-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกคนรู้เท่าทันโรค รู้จักป้องกันตนเองและเด็กไม่ให้ติดต่อ โ ...
Balance ชีวิตเมื่อต้อง Work from Home
วิธีการแก้ปัญหาสำหรับคนที่เจอสถานการณ์ WFH การปรับสมดุลชีวิตโดยเริ่มจากวิเคราะห์ตนเอง และจัดการชีวิต 3 ด้าน คือ ด้านสภา ...
วิธีรับมือกับโรคเด็กในฤดูหนาว
เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงโรคภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับลูกๆ หรือเด็กๆได้ แต่เราสามารถรับมือกับโรคได้ ถ้าเรารู้จักกับชนิดของโรค สาเ ...
ฝึกกระบวนการคิด ในห้องเรียนยุคใหม่
การสร้างการเรียนรู้สำหรับครูและผู้ปกครองในการพัฒนากระบวนการคิดให้เกิดขึ้นกับตัวเด็กในระหว่างอยู่ที่โรงเรียนและบ้านเพื่อเพิ่มป ...