พัฒนาทักษะการคิด (เอ๊ะ อ๋อ โอเค) ด้วย Makerspace สู่การเป็นนวัตกร

โรงเรียนวัดวิมุตยาราม นำโดย ผอ.จิตติยา โชทนากูล มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการคิด "เอ๊ะ อ๋อ โอเค" ด้วย Makerspace สู่การเป็นนวัตกร สอดคล้องกับนโยบายการศึกษา กทม. ปี 2567
"เอ๊ะ อ๋อ โอเค" คืออะไร?
"เอ๊ะ อ๋อ โอเค" เป็นนโยบายด้านการศึกษาที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบให้กับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอน โดยนโยบายนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมทักษะการคิดของนักเรียน และสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้เป็นแบบ Learning ที่ส่งเสริมให้นักเรียนนำความรู้ไปต่อยอดได้ ซึ่งประกอบด้วย
- เอ๊ะ คือ สอนให้เอ๊ะ
- อ๋อ คือ ทำให้อ๋อ
- โอเค คือ นำไปใช้โอเค
นโยบายและจุดเน้นทางการศึกษาของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครในปีการศึกษา 2567 เน้นในเรื่องของการสอนให้เอ๊ะทำให้อ๋อนำไปใช้โอเค ซึ่งเป็นคำจำกัดความของคำว่า “เอ๊ะอ๋อโอเค” หมายถึงว่าจะต้องให้เด็กๆรู้จักการตั้งคำถาม แสวงหาความรู้ด้วยตนเองด้วยวิธีการต่างๆเพื่อให้ได้คำตอบที่จะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้เด็กๆมีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการเรียนรู้ในยุคปัจจุบันทักษะที่สำคัญในยุคศตวรรษที่ 21
Makerspace กับ "เอ๊ะ อ๋อ โอเค"
Makerspace เป็นแนวทางการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะหรือสมรรถนะเพื่อเตรียมความพร้อมของนักเรียนสู่โลกแห่งอนาคต ฝึกให้เด็กๆ คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา วางแผนและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หัวใจสำคัญของ Makerspace คือ กระบวนการ STEAM Design Process 5 ขั้นตอน คือ ถาม จินตนาการ วางแผน สร้างสรรค์ คิดสะท้อนและออกแบบใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย "เอ๊ะ อ๋อ โอเค" ของกรุงเทพมหานคร ที่มุ่งเน้นให้เด็กๆ ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ และนำไปใช้ได้จริงอย่างลงตัวดังนี้
เอ๊ะ (ถาม จินตนาการ) : กระตุ้นให้เด็กตั้งคำถาม คาดการณ์ และจินตนาการถึงคำตอบ
- อ๋อ (วางแผน สร้างสรรค์) : ออกแบบวิธีการ ลงมือปฏิบัติ และทดลองหาคำตอบ
- โอเค (คิดสะท้อน ออกแบบใหม่) : ประเมินผลลัพธ์ ปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาต่อยอด
Makerspace ในโรงเรียนวัดวิมุตยาราม
ผอ.จิตติยา สนับสนุนให้ทุกห้องเรียนมีมุม Makerspace และได้รับการสนับสนุนห้อง Innovation Digital Makerspace Room จากกทม. ซึ่งเป็น 1 ใน 20 โรงเรียนพื้นที่กทม.ที่ได้ห้องเรียนนี้ ซึ่งจะใช้ในการพัฒนาต่อยอดกิจกรรม Makerspace ของโรงเรียนต่อไปเพื่อช่วยส่งเสริมให้เด็กสามารถทำกิจกรรม Makerspace ได้ทุกที่ทุกเวลา เด็ก ๆ จะได้ฝึกฝนทักษะการคิด แก้ปัญหา และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างการใช้ Makerspace ในชีวิตประจำวัน
Makerspace ไม่ใช่แค่การประดิษฐ์ผลงาน หรือเป็นแค่ห้องเรียนหากแต่เป็นพื้นที่พัฒนาให้ทุกคน เป็นนักคิด นักออกแบบ นักแก้ไขปัญหา เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะหรือสมรรถนะอยู่เสมอ ผอ.จิตติยา ได้ยกตัวอย่างง่าย ๆเพื่อให้เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ Makerspace จากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การเลือกเมนูอาหารเย็น
- เริ่มจากตั้งคำถามเย็นนี้จะทานอะไรดี? จากนั้นจินตนาการถึงเมนูต่าง ๆ (เอ๊ะ)
- วางแผนออกแบบวิธีการ ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ วิธีการทำ หรือแผนการเดินทางเป็นอย่างไร และลงมือทำตามแผนที่วางไว้ (อ๋อ)
- สุดท้าย ทบทวนสิ่งที่ได้ทำ สะท้อนคิดถึงการปรับปรุงแก้ไข (โอเค)
ตัวอย่าง
สมมุติ “เย็นนี้ฉันหิวมากฉันจะกินอะไรดีนะ(ถามตัวเอง) และจินตนาการต่อไปว่าสิ่งที่อยากกินมีเมนูอะไรบ้าง? เช่น ชาบู KFC โลตีสายไหม ฯลฯ แล้วสมมุติว่าเราเลือกอยากกินเมนูชาบู จากนั้นก็ออกแบบวางแผนว่าเราจะทำยังไงถึงจะได้กินชาบู และคิดต่อว่าจะทำเองหรือจะไปกินที่ร้าน ถ้าทำเองต้องซื้อวัตถุดิบอะไรบ้าง หรือมีวิธีการทำชาบูยังไง หรือถ้าเลือกว่าจะไปกินที่ร้านก็ลองออกแบบวางแผนว่าจะไปกินกี่โมง จะไปร้านไหน จะไปกับใคร จากนั้นก็ลงมือทำตามแผน หลังจากที่กินชาบูเสร็จแล้วก็กลับมาทบทวน เช่น ชาบูที่กินไปวันนีี้อร่อยไหม? รสชาติเป็นยังไง ถ้าไม่อร่อยหากได้ทำใหม่ หรือหากได้กินอีกครั้งหน้าเราจะทำอะไรใหม่ ถ้าหากน้ำจิ้มไม่อร่อยก็อาจจะเปลี่ยนน้ำจิ้มเป็นยี่ห้อใหม่ เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่เราทำไปทั้งหมดนี้ก็คือ กระบวนการ STEAM Design Process ที่ใช้ในการพัฒนาทักษะของเด็กๆผ่านกิจกรรม Makerspace นั่นเอง
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการ “พัฒนาทักษะการคิด (เอ๊ะ อ๋อ โอเค) ด้วย Makerspace สู่การเป็นนวัตกร”
Makerspace เป็นมากกว่าห้องเรียน เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เป็นศูนย์กลางที่หลอมรวมเด็กๆที่มีสมรรถนะที่แตกต่างเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทักษะหรือสมรรถนะซึ่งกันและกัน ช่วยให้เด็ก ๆ เพิ่มความกล้า ลดความกลัว กล้าที่จะค้นหาเรียนรู้สิ่งๆใหม่ๆ เด็ก ๆ สนุกกับการเรียนรู้มากขึ้น กล้าคิด กล้าแสดงออก และพัฒนาทักษะต่าง ๆ เช่น การคิดวิเคราะห์ ทักษะการแก้ปัญหา การทำงานร่วมกัน พัฒนาการสื่อสารและการจัดการตนเองอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมก้าวสู่การเป็นนวัตกรในอนาคต
คุณครูได้พัฒนาทักษะการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้มากขึ้นในการออกแบบการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์และได้พัฒนาทักษะการตั้งคำถามเพิ่มขึ้น
ผอ.ก็ได้เรียนรู้และค้นพบว่า คนที่เจอปัญหาและสามารถก้าวข้ามผ่านปัญหาต่างๆมาได้ก็เกิดจากวิธีการคิดเชิงออกแบบเช่นเดียวกันกับกระบวนการที่เด็กๆได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรม Makerspace ทำให้เมื่อเจอปัญหาเราจะเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลาและไม่ท้อแท้แต่จะนำปัญหากลับมาคิดวิเคราะห์ แก้ไข ทำให้เราเป็นคนที่มีกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ
ดังนั้น Makerspace คือสิ่งที่เราทำและใช้อยู่จริงในชีวิตประจำวันในทุกๆเรื่องที่เราต้องการตัดสินใจที่ดีที่สุด
Related Courses
ปลุกพลังนวัตกรรุ่นใหม่ สร้างสังคมเมืองปลอดภัยและมีสุข
ผู้เรียนในช่วงอายุ 13-18 ปีสามารถใช้กระบวนการ STEAM Design Process ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันอย่างมีค ...



ปลุกพลังนวัตกรรุ่นใหม่ สร้างสังคมเมืองปลอดภัยและมีสุข
Micro Learning - แหล่งเครื่องมือช่วยครูจัดการชั้นเรียน
Starfish แหล่งเครื่องมือช่วยครูในจัดการชั้นเรียนที่หลากหลาย เช่น Starfish Labz, Starfish Class แบบเว็บไซต์ และแ ...



Micro Learning - แหล่งเครื่องมือช่วยครูจัดการชั้นเรียน
Micro Learning ห้องเรียนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ (เด็กสมาธิสั้น)
แนวทางการดูแลรักษาเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการมีภาวะสมาธิสั้น ต้องผสมผสานการรักษาหลายวิธี ถ้าเด็กได้รับการดูแลช่วยเหลือที่ถูกต้ ...



Micro Learning ห้องเรียนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ (เด็กสมาธิสั้น)
Sensory Integration (SI) กระบวนการบูรณาการประสาท และสมองของเด็ก
SI เป็นกระบวนการทำงานของสมองเพื่อจัดการกับข้อมูลที่ได้รับจากการรับความรู้สึกจากร่างกาย การใช้ชีวิตประจำวันต้องอาศัยการปร ...



Sensory Integration (SI) กระบวนการบูรณาการประสาท และสมองของเด็ก
Related Videos


เสียงสะท้อนเมื่อ “ครู เปลี่ยนเป็น โค้ช” จากงาน Makerpace Day


ครูไทเลย นวัตกรรมการเรียนการสอนโดยใช้ชีวิตประจำวันเป็นฐาน BLENDED

