จุดประกายไอเดีย สร้างสรรค์นวัตกรรมผ่าน Makerspace
นางนัยณา เอี่ยมสวัสดิ์ (ครูนา) ตำแหน่ง ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนอนุบาลพิษณุโลก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1
จากที่ได้พูดคุยกับคุณครูนานั้น ครูนาได้ให้ข้อมูลกับผู้เขียนว่า ครูนาเป็นครูประจำชั้นระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยครูนาจะสอนวิชาภาษาอังกฤษเป็นหลัก ซึ่งหลังจากที่ได้มาดูงานที่โรงเรียนปลาดาวและเข้าร่วมอบรม Makerspace แล้วนั้น ทางโรงเรียนก็มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดสร้างห้อง Makerspace ให้ตอบโจทย์กับการสร้างพื้นที่ในการเรียนรู้ โดยมีการจัดตารางการใช้ห้องที่ชัดเจน ในช่วงแรก ๆ ครูนาได้นำกระบวนการ STEAM Design Process ไปใช้กิจกรรม Special Class ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งเป็นกิจกรรมหลังเลิกเรียนระหว่างที่รอผู้ปกครองมารับกลับบ้าน ถือเป็นการนำ Makerspace มาใช้กับนักเรียนเป็นครั้งแรก ทำให้สังเกตเห็นได้ว่าเด็ก ๆ มีความสุขและสนุกกับการทำกิจกรรมเป็นอย่างมาก ถือเป็นกิจกรรมที่ประสบผลสำเร็จสูงมากเลยทีเดียว เพราะการสอนแบบ Makerspace นั้น ไม่ได้เจาะจงว่าเด็กต้องทำงานตามที่ครูบอกเท่านั้น แต่เด็ก ๆ สามารถเลือกทำกิจกรรมตามความสนใจ ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และมีสิทธิ์เลือกว่าจะทำงานเดี่ยว ทำงานคู่ หรือทำงานกลุ่มก็ได้ โดยครูจะมีการใช้คำถามกระตุ้นการคิด เพื่อให้เด็กได้จินตนาการและสร้างสรรค์ผลงานผ่านการลงมือทำ ซึ่งเด็ก ๆ จะตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ทำกิจกรรมนี้ เพราะได้คิดสร้างสรรค์ผลงานตามจินตนาการของตนเอง มีอิสระในการคิด ถึงแม้ผลงานของเด็กจะไม่ได้สวยงามอะไรมากมาย แต่เด็กสามารถอธิบายสิ่งที่ทำได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จแล้วสำหรับครู
ครูนาได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมอีกว่า หลังจากที่เด็ก ๆ เริ่มชินและเข้าใจกับกระบวนการ STEAM Design Process แล้ว ครูนาได้นำกระบวนการมาต่อยอดและบูรณาการในรายวิชาภาษาอังกฤษ เพื่อกระตุ้นจุดประกายให้เด็กได้คิดสร้างสรรค์สื่อหรือนวัตกรรมที่นำมาใช้แก้ปัญหาการใช้ภาษาอังกฤษ ถึงแม้จะเป็นปัญหาเล็กๆ ทั้งด้านการฟัง พูด อ่าน และเขียน หรือช่วยพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษแบบง่าย ๆ แต่สามารถนำมาใช้ได้จริง โดยเด็กส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในกิจกรรมดีมาก เข้าใจกระบวนการ และสามารถบริหารจัดการตนเองได้ มีภาวะการเป็นผู้นำหรือผู้ตาม ยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยผลงานที่เห็นได้เด่นชัดนั้น คือ การสร้าง “Amazing Board Game” ซึ่งเด็กจะตั้งชื่อเอง สร้างสรรค์ชิ้นงานด้วยตนเอง จากที่สังเกตได้คือ เด็กมีความภูมิใจในชิ้นงานที่ได้ลงมือทำด้วยตนเองและสามารถบอกขั้นตอนได้อย่างแม่นยำ ที่น่าภูมิใจอีกอย่างหนึ่งคือ ผลงานของเด็กสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาในการใช้ภาษาอังกฤษได้จริง
ครูนายังได้บอกอีกว่า สำหรับการนำ Makerspace ไปใช้นั้น สังเกตได้ว่า ถ้าเป็นกิจกรรม Special Class เด็ก ๆ จะมีความชอบมากกว่า เพราะไม่มีการจำกัดความคิด ซึ่งเด็กสามารถเลือกทำในสิ่งที่ชอบและสนใจจริง ๆ เช่น เศษวัสดุเหลือใช้สามารถนำไปสร้างเป็นอะไรได้บ้าง ก็จะได้เห็นไอเดียแนวคิดที่หลากหลาย แต่สำหรับวิชาภาษาอังกฤษนั้น เหมือนจะเป็นการบล็อคความคิดเด็กไปบ้าง เพราะต้องค้นหาปัญหาเฉพาะในวิชาภาษาอังกฤษเท่านั้น ซึ่งเด็กบางคนอาจจะไม่ชอบก็ได้
ครูนาคิดว่า Makerspace ทำให้ครูได้ปรับแนวคิด สร้างการเปลี่ยนแปลงในตนเอง เพราะก่อนทำการสอนแต่ละครั้งครูนาต้องทำการบ้านก่อน เตรียมคำถามปลายเปิดเพื่อช่วยกระตุ้นความคิดของนักเรียน จัดหาวัสดุอุปกรณ์หรือสิ่งของเหลือใช้ที่สามารถหาได้ง่าย คอยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ที่เห็นได้ชัดว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงกับตัวผู้เรียนคือ ดูได้จากใบงาน STEAM Design Process ซึ่งมีการวางแผนที่เข้าใจง่าย แผนมีความชัดเจน มีการวาดภาพประกอบคำหรือประโยคที่บรรยายเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เด็กกล้าพูดนำเสนอผลงานของตนเอง ถือว่าสำเร็จเกินความคาดหมายเลยทีเดียว แต่สิ่งที่คิดว่าอยากเพิ่มเติมในห้อง Makerspace คือ ควรจัดหาวัสดุอุปกรณ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพิ่มมุมในห้องเพื่อกระตุ้นความอยากเรียนรู้ของนักเรียน มีจัดเวทีการนำเสนอผลงานเพื่อให้เด็กได้แสดงผลงานของตนเอง คิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยจุดประกายความกล้าของนักเรียนได้มากขึ้น
สำหรับการต่อยอดเพิ่มเติมคือ ครูนาอยากนำกระบวนการไปใช้ในการจัด Camp ในกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นสิ่งใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมที่เคยทำมาทุกปี คิดว่าเด็กจะให้ความสนใจมากเลยทีเดียว เพราะกิจกรรม Camp นั้น จัดให้กับเด็กหลากหลายกลุ่ม ซึ่งเด็กบางคนก็ไม่เคยรู้จักกระบวนการ STEAM Design Process มาก่อน ก็จะมีการแบ่งปันองค์ความรู้จากเด็กที่เคยใช้กระบวนการสู่เด็กที่ไม่เคยใช้ น่าจะเกิดภาพการเรียนรู้ที่เด็ก ๆ มาแบ่งปันไอเดียกัน เด็กกลุ่มไหนที่รู้จักกระบวนการดีแล้วก็ให้เป็นแกนนำกลุ่ม คอยเป็นผู้ชี้นำแนวทางสู่เด็กกลุ่มอื่น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่พร้อมนำลงมือปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม
จากที่ได้พูดคุยกับครูนานั้น ถือว่าเป็นครูแกนนำอีกหนึ่งท่านที่มีความพร้อมในการพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง สามารถบูรณาการกระบวนการได้หลากหลายกิจกรรม คอยสังเกตพัฒนาการของผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ เน้นการสร้างทักษะ และไม่หยุดนิ่งที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ เมื่อโค้ชเห็นถึงความมุ่งมั่นของครูแล้ว โค้ชก็พร้อมที่จะสนับสนุนทุก ๆ องค์ความรู้ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ครูในการพัฒนาเด็กต่อไป
บทความใกล้เคียง
Related Courses
STAMPER Learning การเรียนรู้แบบบูรณาการ
STAMPER Learning เป็นการบูรณาการแบบใหม่ ครบจบทั้งขั้นตอนการเรียนรู้ และการประเมินผลสำหรับครู ซึ่งทำได้ง่ายๆ ในกิจกร ...
Micro Learning การดูแลสุขภาพใจ ป.4-6
เด็กระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 จะอยู่ในช่วงวัยที่เริ่มเรียนรู้จักพัฒนาตนเอง สนใจความรู้สึกตนเองและผู้อื่น เริ่มให้ความสนใจเพศตร ...
คู่มือ Starfish Makerspace Certified Teacher & School Leader
Starfish Makerspace Certified Teacher & School Leader เป็นคู่มือที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมพัฒนาทักษะและศักยภาพข ...
คู่มือ Starfish Makerspace Certified Teacher & School Leader
Micro Learning การดูแลสุขภาพใจ ป.1-3
การที่เด็กอารมณ์ดี มีความร่าเริงแจ่มใสจะมีผลต่อพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมอง จิตใจ และร่างกาย แต่หากอารมณ์ไม่ ...