สพฐ. เร่ง!! จัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ และการพัฒนาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss)

1 ปีที่แล้ว
3110 views
โดย Starfish Labz
สพฐ. เร่ง!! จัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ และการพัฒนาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss)

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่เราได้เผชิญกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ทำให้นักเรียนจำนวนมากพบกับภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ซึ่งจากการวิจัยของสภาการศึกษา พบว่า นักเรียนในระดับต่างกัน จะพบภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่น ในระดับประถมศึกษา พบภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ในด้านความรู้ การอ่าน คณิตศาสตร์ และคุณลักษณะของนักเรียน ส่วนในระดับมัธยมศึกษา พบว่า มีความถดถอยทั้งในด้านความรู้ การเชื่อมโยงความรู้ สภาวะทางอารมณ์ สัมพันธภาพ โดยมีสาเหตุที่หลากหลาย ทางด้านครูและผู้ปกครองก็ได้รับผลกระทบจากการต้องปรับตัวต่อการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่ต้องใช้ทั้งองค์ความรู้และการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด

สพฐ. มีแนวคิดที่จะลดช่องว่างปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งด้านความรู้พื้นฐานที่จำเป็น กระบวนการเรียนรู้ ทักษะชีวิต จัดทำแนวทางการจัดการเรียนรู้ Active Learning ให้เกิดสมรรถนะ พร้อมทั้งเชื่อมโยงเนื้อหาให้มีความหมาย ทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าต่อสิ่งที่เรียนรู้และสามารถนำไปใช้ได้จริง โดยดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้และเติมเต็มด้วยตนเองนอกห้องเรียน ด้วยการทำกิจกรรมในรูปแบบที่สนุกสนาน ส่วนที่สอง สร้างความเข้าใจและส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครูผู้สอนในลักษณะของ Active Learning ที่ให้ความสำคัญกับสมรรถนะของผู้เรียน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการวิเคราะห์ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ของนักเรียน และวิเคราะห์กรอบแนวคิด (Concept) สำคัญของ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และภาษาต่างประเทศ (วิชาภาษาอังกฤษ) 

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาด้วยการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของครู ให้คำนึงว่าเราจะสอนอย่างไรให้ไปถึง Ultimate Outcome โดยจัดการเรียนการสอนในแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนและนักเรียน

สิ่งที่ต้องการเน้นย้ำ คือ การใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของครูในสถานการณ์ปัจจุบัน ถือเป็นช่วงนาทีทองที่จะพัฒนาคุณภาพนักเรียนตามเป้าหมายทั้งในระดับชาติและระดับสากล ผ่านกระบวนการที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ด้วย Active Learning

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : www.obec.go.th/archives/609965

Share: