เข้าใจกระบวนการสร้างตัวตนของคนวัย Teen

วัยรุ่นคือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่เด็ก ๆ ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ วัยรุ่นส่วนใหญ่มักเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต และพยายามค้นหาตัวตน ทั้งสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ไม่ชอบ รวมทั้งลองผิดลองถูกเพื่อให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น การได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม และเห็นตัวอย่างที่ดีในช่วงเวลานี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อตัวตนในอนาคตของลูกได้
การสร้างตัวตนคือขั้นหนึ่งของพัฒนาการ
คุณพ่อคุณแม่คงคุ้นเคยกับคำว่าพัฒนาการของลูกเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะพัฒนาการทางร่างกาย ทางอารมณ์ จิตใจ เมื่อลูกย่างเข้าสู่วัยรุ่น พัฒนาการอีกด้านหนึ่งที่สำคัญต่อชีวิตมาก ๆ นั่นก็คือ พัฒนาการการสร้างตัวตน Identity Development หรือที่เราได้ยินกันบ่อยว่าการสร้างอัตลักษณ์นั่นเอง ซึ่งสภาพแวดล้อม สังคม ครอบครัว โรงเรียน เพื่อน ล้วนมีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมตัวตนของคน ๆ หนึ่ง
เมื่อวัยรุ่นมีพัฒนาการด้านการสร้างตัวตน พวกเขาจะเริ่มพัฒนาบุคลิกภาพเฉพาะตัว เรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงกับคนอื่น ๆ เด็กที่มีความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองเป็นพื้นฐานมาก่อน มักพัฒนาตัวตนได้ง่ายกว่าเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น หากกระบวนการนี้ดำเนินไปได้ด้วยดี พวกเขาจะรู้สึกได้รับการยอมรับ เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และใช้ชีวิตได้ดีเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ในทางกลับกันหากการสร้างตัวตนมีอุปสรรค เช่น พ่อแม่ผู้ปกครองที่มักตำหนิตัดสินด้วยคำพูดรุนแรง หรือครอบครัวที่ห่วงลูกมากเกินไป ไม่ปล่อยให้ลูกได้ทำอะไรเอง พัฒนาการในขั้นนี้ก็อาจชะงัก ส่งผลต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้
อะไรคืออุปสรรคการสร้างตัวตนของวัยรุ่น
การสร้างตัวตน เป็นก้าวใหญ่ของพัฒนาการที่จะติดตัวลูกไปตลอดชีวิต ซึ่งหากพัฒนาการนี้ประสบความสำเร็จพวกเขาจะค้นพบอัตลักษณ์ของตนเองที่แตกต่างจากคนอื่น ขณะเดียวกันก็สร้างจุดเชื่อมโยงตนเองกับสังคม เพื่อให้เกิดความรู้สึก “fit in” หรือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ อย่างไรก็ตาม อาจมีวัยรุ่นจำนวนไม่น้อย ที่ไม่อาจก้าวผ่านพัฒนาการขั้นนี้ได้ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็ก ๆ มีปัญหาเรื่องการสร้างตัวตน คือ
- ขาดสายสัมพันธ์อันดีกับผู้เลี้ยงดูหลัก
- ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง
- ถูกทอดทิ้ง หรือผู้เลี้ยงดูมีอิทธิพลในเชิงลบ
- ไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนที่ดี
จากสาเหตุข้างต้น เมื่อวัยรุ่นไม่สามารถสร้างตัวตนได้ตามพัฒนาการที่เหมาะสม ก็อาจทำให้มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง ทั้งเรื่องยาเสพติด เรื่องเพศ และความรุนแรง ซึ่งหากเด็ก ๆ มีปัญหาในการพัฒนาตัวตน พ่อแม่อาจสังเกตพบพฤติกรรมต่าง ๆ ดังนี้
- ยึดติดกับวัตถุหรือรูปลักษณ์ภายนอก เช่น เสื้อผ้า หรือการได้เป็นเจ้าของสิ่งต่าง ๆ ตามกระแส เพื่อทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง หากไม่ได้สิ่งเหล่านี้ มักมีอาการซึมเศร้า ขาดความมั่นใจ
- เลียนแบบพฤติกรรมเชิงลบของผู้ใหญ่ วัยรุ่นบางกลุ่ม เชื่อว่าจะได้รับการยอมรับเมื่อเขาทำตัวเหมือนผู้ใหญ่ แต่แทนที่จะเลียนแบบพฤติกรรมดี ๆ เด็กกลุ่มนี้มัก เลือกเลียนแบบพฤติกรรมเชิงลบ เช่น ใช้สารเสพติด หรือพฤติกรรมทางเพศต่าง ๆ
- แสดงพฤติกรรมต่อต้าน วัยรุ่นอาจแสดงพฤติกรรมต่อต้าน เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาแตกต่างจากพ่อแม่ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน
- เลียนแบบคนดัง อาจจะเป็นศิลปิน ไอดอล ที่ชื่นชอบ โดยพยายามทำตัวเหมือนคนดัง และสร้างบุคลิกและตัวตนตามแบบคนที่ชื่นชอบ จนสูญเสียความเป็นตัวเอง
- สร้างกลุ่มเฉพาะตน มักเป็นกลุ่มเพื่อนที่มีพฤติกรรมคล้ายกัน ส่วนใหญ่มักเป็นพฤติกรรมเชิงลบ และเกาะกลุ่มอยู่เฉพาะกลุ่มตน เพราะไม่ต้องการเกี่ยวข้องหรือถูกตัดสินจากคนที่มีพฤติกรรมต่างจากตน
บทบาทพ่อแม่ช่วยลูกสร้างตัวตน
พ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูที่ใกล้ชิดกับเด็ก ๆ ถือว่ามีอิทธิพลสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างตัวตนของลูก โดยทั่วไปเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เด็ก ๆ มักรู้สึกเครียดและกดดัน บางรายแม้ไม่ได้พูดออกมาตรง ๆ แต่พวกเขาก็ต้องการความเข้าใจ และการยอมรับจากพ่อแม่ผู้ปกครอง คุณควรช่วยให้เด็ก ๆ รู้สึกมั่นคงทางใจ ด้วยการใช้เวลากับลูกให้มากเท่าที่จะทำได้ ตั้งใจฟังสิ่งที่ลูกพูดอย่างแท้จริง การใส่ใจอย่างสม่ำเสมอ อยู่เคียงข้างเมื่อลูกต้องการ คือหัวใจสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะช่วยให้กระบวนการพัฒนาตัวตนของวัยรุ่นดำเนินไปได้ด้วยดี
สำหรับเด็ก ๆ ที่เผชิญกับปัญหาในระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นสู่การเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยเด็ก ๆ ได้ด้วยวิธีต่อไปนี้ค่ะ
- ผู้ใหญ่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ชีวิต จัดการรับมือกับความเครียดต่าง ๆ ได้ดี
- ให้คำแนะนำเด็ก ๆ ถึงวิธีที่ถูกต้องเมื่อต้องเผชิญความผิดหวังในชีวิต
- หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น ๆ
- เมื่อลูกทำสิ่งดี ๆ ควรกล่าวคำชม และให้แรงเสริมทางบวก
- สนับสนุนให้ลูกนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ให้เกียรติลูกในฐานะบุคคลคนหนึ่งที่มีชีวิตเป็นของตัวเอง
ทุกชีวิตต้องเผชิญกับช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง และกระบวนการสร้างตัวตนของลูกนั้น ก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ครั้งแรก ๆ ในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ย่อมรู้ดีว่าช่วงเวลาเช่นนี้ มักเต็มไปด้วยความรู้สึกสับสน วุ่นวาย และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน คงจะดีไม่น้อย หากเด็ก ๆ มีพ่อแม่ผู้ปกครองที่เข้าใจ คอยเป็นหลักให้พวกเข้าได้ยึดเหนี่ยว เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านนี้ นำไปสู่การเจริญเติบโตที่งดงามเฉกเช่น แสงแรกของพระอาทิตย์ในวันใหม่
บทความใกล้เคียง
Disrespectful ไม่เคารพผู้ใหญ่ ปัญหาแห่งยุคสมัยที่พ่อแม่ยุคใหม่ต้องเผชิญ

“เลิกเล่นโทรศัพท์แล้วไปทำการบ้านได้แล้วนะลูก” คุณแม่ส่งเสียงบอก เมื่อลูกสาวได้ยินคำพูดของแม่ ก็กระแทกโทรศัพท์ลงบนโซฟา กรอกตามองบน ก่อนลุกเดินหนีไปอย่างไม่พอใจ“ทำรายงานที่คุณครูสั่งเสร็จหรือยังนะ” แม่เอ่ยถามลูกชายขณะที่กำลังกินอาหารเย็น“โห! ทำไมแม่ต้ ...
5 วิธีฝึกวินัยลูกวัยรุ่น

ใคร ๆ ก็บอกว่าเด็กวัยรุ่นนั้นเข้าใจยาก เป็นเรื่องจริงเลยล่ะค่ะ เพราะทั้งพฤติกรรมที่เริ่มเปลี่ยน ไม่เชื่อฟัง มีความคิดเป็นของตนเอง ฯลฯ ทำเอาคุณพ่อคุณแม่ปวดหัวไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องวินัยง่าย ๆ ที่ต้องบ่นกันจนเบื่อทุกวัน วันนี้เรารวมแนวคิดในการปรับวินัยลูกวัยรุ่น ...
5 วิธีสานสัมพันธ์กับลูกวัยทีน

พ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องดูแลลูกหลานวัยทีน คงมีเรื่องให้กลุ้มใจ ปวดหัวกับพฤติกรรม ความคิดที่เปลี่ยนไปของลูกบ่อยๆ ใช่ไหมคะ? หนูน้อยที่เคยน่ารัก พูดอะไรก็เชื่อฟัง หรืออย่างน้อยๆ หลอกล่อเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจบ้างก็ได้ผล แต่มาตอนนี้เด็กๆ เหล่านั้น เติบโตเป็นตัวขอ ...