สัญญาณไบโพลาร์ในวัยรุ่น
ภาวะอารมณ์ของวัยรุ่นเป็นสิ่งหนึ่งที่เข้าใจได้ยากสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยเฉพาะหากสภาวะอารมณ์นั้นมาจากความเจ็บป่วยทางจิตใจไม่ใช่อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ตามฮอร์โมนปกติของวัยรุ่นก็อาจยากที่พ่อแม่จะจับสัญญาณได้ทัน ภาวะอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว หรือ Bipolar เป็นอาการหนึ่งที่พบได้ในวัยรุ่น แต่มักไม่ค่อยถูกตรวจพบในระยะแรก เพราะมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคซึมเศร้า หรือ โรควิตกกังวล นอกจากนี้ ความผันผวนของฮอร์โมนที่มักเกิดขึ้นกับวัยรุ่นอาจทำให้เกิดรูปแบบพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกับโรคไบโพลาร์ จนทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ทันสังเกตเห็นความผิดปกติ จนนำไปสู่การรักษาที่ล่าช้า บทความนี้ StarfishLabz จึงขอชวนพ่อแม่ผู้ปกครองมาสังเกตสัญญาณโรคไบโพลาร์ในวัยรุ่น เพื่อให้ลูกหลานของเราได้รับการดูแลรักษาทันเวลา
ไบโพลาร์คืออะไร โรคไบโพลาร์ (bipolar disorder) หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์สองแบบเปลี่ยนแปลงไปมาสลับกัน คือ อารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ (mania) และอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติ (depressed) โรคนี้จึงมีชื่อเดิมว่า manic-depressive disorder โดยพบได้ราวร้อยละ 2-5 ของประชากรทั่วไป โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีช่วงเวลาที่เกิดอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติบ่อยกว่าอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ ขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติเพียงอย่างเดียวก็ได้ ปัจจุบันคาดว่าไบโพลาร์เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น พันธุกรรม เนื่องจากพบว่าผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้หรือโรคทางจิตเวชอื่นๆ จะมีโอกาสเป็นโรคไบโพลาร์มากกว่าคนทั่วไป ไปจนถึง การทำงานที่ผิดปกติของสมองโดยมีสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล นอกจากนี้สภาพแวดล้อม ความเครียด หรือการเลี้ยงดูก็อาจเป็นสาเหตุของไบโพลาร์ได้เช่นกัน ทั้งนี้เมื่อสอบประวัติผู้ใหญ่ที่เป็นโรคไบโพลาร์ พบว่ามีมากกว่าร้อยละ 65 ที่แสดงอาการให้เห็นก่อนอายุ 18 ปี โดยไบโพลาร์ มักมีอาการคล้ายกับโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit/ Hyperactivity Disorder) และบางคนก็เป็นร่วมกันทั้ง 2 อย่าง แต่เนื่องจากโรคสมาธิสั้นมักพบได้บ่อยกว่า หากอาการแยกกันได้ไม่ชัดเจน แพทย์มักให้ยารักษาสมาธิสั้นก่อน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ แพทย์มักทบทวนการรักษาใหม่
อาการไบโพลาร์ในวัยรุ่น ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า อาการไบโพลาร์มักมีอารมณ์สลับไปมาระหว่างก้าวร้าวผิดปกติ และซึมเศร้าผิดปกติ ลองมาสังเกตดูว่าเมื่อมีวัยรุ่นตกอยู่ในห้วงอารมณ์แต่ละขั้วจะแสดงออกอย่างไรบ้าง
อาการเมื่ออยู่ในช่วงก้าวร้าวผิดปกติ
- ร่าเริงเกินกว่าปกติ ทำตัวเป็นเด็ก ไม่สมวัย
- ความอดทนต่ำ ขี้โมโห
- นอนไม่หลับ แต่มีพละกำลังมาก
- ขาดสมาธิจดจ่อ
- สนใจเรื่องทางเพศหรือพูดถึงเรื่องเพศมากกว่าปกติ
- มีส่วนร่วมในกิจกรรมสุ่มเสี่ยงที่อันตรายสูง
อาการเมื่ออยู่ในช่วงอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติ
- มีอารมณ์ดำดิ่งในความเศร้า
- ปวดหัวหรือปวดท้องเรื้อรังโดยไม่มีเหตุผล
- นอนมากกว่าปกติหรือไม่นอนเลย
- รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า
- กินมากหรือน้อยเกินไป
- กระสับกระส่าย ไม่สามารถสนุกสนานได้
- มีความคิดฆ่าตัวตาย
รู้ได้อย่างไรว่าไบโพลาร์ หรือว่าแค่ อารมณ์วัยรุ่น ขณะที่อ่านอาการข้างต้น พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนอาจรู้สึกว่าทั้งหมดนั้นก็เหมือนอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ตามปกติของวัยรุ่นไม่ใช่หรือ แล้วจะแยกความแตกต่างระหว่างไบโพลาร์กับสภาวะอารมณ์ตามวัยได้อย่างไร แต่จริงๆ แล้วมีความแตกต่างที่สำคัญที่สามารถใช้พิจารณาว่าอาการที่วัยรุ่นกำลังเผชิญเข้าข่าย อารมณ์แปรปรวนสองขั้วหรือไม่ ดังนี้
- มีประวัติอารมณ์แปรปรวนเป็นช่วงๆ
- มีแนวโน้มที่จะเก็บตัว และนอนหลับมากกว่าปกติ แทนที่จะนอนน้อยลง
- ไม่ค่อยน้ำหนักลด
- อายุค่อนข้างน้อยน้อยขณะมีอาการอารมณ์แปรปรวนครั้งแรก
- มักแสดงอาการซึมเศร้ามากกว่าปกติบ่อยๆ
- มีคนในครอบครัวเป็นไบโพลาร์มาก่อน
- มักแสดงอารมณ์แปรปรวนในช่วงสั้นๆ แต่หลายครั้ง
- อาการไม่ดีขึ้นเมื่อได้รับการรักษาด้วยการให้ยาแก้โรคซึมเศร้า
- มีแนวโน้มที่จะแสงดพฤติกรรมของโรคทางจิต
- มีรูปแบบการแสดงความแปรปรวนทางอารมณ์ตามช่วงเวลา
- มีแนวโน้มที่จะเสพสารเสพติดหรือพยายามฆ่าตัวตาย
จะเห็นว่าความแตกต่างนั้นอาจไม่ชัดเจน การที่พ่อแม่ใกล้ชิด และสังเกตสภาวะอารมณ์ของวัยรุ่นจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้วัยรุ่นได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว โดยการรักษาอาจมีทั้งการบำบัด และใช้ยา หรือทั้งสองอย่างควบคู่กัน สำหรับผู้ปกครองที่ต้องดูแลวัยรุ่นที่มีอาการไบโพลาร์ สิ่งสำคัญคือความเข้าอกเข้าใจและอดทน เฝ้าสังเกตอารมณ์เพื่อช่วยเหลือได้ทันเมื่อมีความเปลี่ยนแปลง จดบันทึกสิ่งเร้าที่กระตุ้นสภาวะอารมณ์ของลูก และเรียนรู้หาวิธีรับมือกับอารมณ์ รวมทั้งหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าเหล่านั้น ควรพาลูกพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ พ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ควรโทษตัวเองต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์ซับซ้อนและยากจะรับมือ เวลานี้พ่อแม่จำเป็นต้องมีกำลังใจที่เข้มแข็งเพื่อเป็นหลักยึดให้กับลูกผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปให้ได้
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
บทความใกล้เคียง
การส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย: แนวคิดจาก Piaget, Vygotsky และ Constructivism
บุหรี่ไฟฟ้า ภัยสุขภาพยุคใหม่ของเด็กวัยรุ่น
Starfish Future Labz แนะแนวทักษะชีวิต 5 เคล็ดลับ ช่วยลูกพัฒนาสมาธิ พร้อมจดจ่อในทุกสถานการณ์
Related Courses
การดูแลสุขภาพใจเด็กประถมศึกษา
ในคอร์สนี้เป็นการดูแลสุขภาพใจของเด็ก เพราะการมีสุขภาพใจที่ดีนั้นส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ทำให้อารมณ์ดี สามารถจัดการภาวะอาร ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ
Micro Learning การดูแลสุขภาพใจ ป.1-3
การที่เด็กอารมณ์ดี มีความร่าเริงแจ่มใสจะมีผลต่อพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมอง จิตใจ และร่างกาย แต่หากอารมณ์ไม่ ...