5 สัญญาณเตือน Nervous Breakdown ภาวะสติแตกในวัยรุ่น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกยุคปัจจุบัน แม้จะมีเทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกให้การใช้ชีวิตเป็นเรื่องง่ายขึ้น แต่ผู้คนจำนวนมากกับเผชิญกับภาวะเครียดมากกว่ายุคใดๆ ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสภาพสังคม เศรษฐกิจ ไปจนถึงโรคระบาดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน
หากใครที่ขาดภูมิคุ้มกันทางใจที่แข็งแรง โดยเฉพาะวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หากมีเรื่องไม่คาดคิด หรือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์มากระทบกระเทือนจิตใจ ก็อาจทำให้เกิดอาการสติแตก หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Nervous Breakdown ได้
บทความนี้ Starfish Labz ชวนพ่อแม่ผู้ปกครองมาสังเกตอาการและทำความเข้าใจที่มาของอาการสติแตกในวัยรุ่น เพื่อหาทางป้องกันและรับมือได้อย่างถูกวิธีค่ะ
Nervous Breakdown คืออะไร?
ความเครียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศทุกวัย แม้กระทั่งเด็กๆ ซึ่งหากปล่อยให้ความเครียดสะสมจนถึงขีดสุด ก็อาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าสติแตกได้
Nervous Breakdown คือภาวะการเผชิญความเครียด หรือวิตกกังวลอย่างมากจนไม่สามารถควบคุมตนเองให้เป็นปกติได้ บางกรณีอาจมีการระเบิดอารมณ์ออกมา หรือที่เรามักพูดกันว่า “สติแตก” นั่นเอง
การเกิดภาวะ Nervous Breakdown โดยทั่วไปไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง แต่มักเป็นความเครียด ความกังวลที่สะสมเป็นเวลานาน โดยผู้ที่รู้สึกเครียดหรือกังวล ก็ไม่อาจหาทางจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม เมื่อถูกกระตุ้นด้วยเหตุการณ์บางอย่างจึงระเบิดอารมณ์ออกมา ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้า หรือ โรควิตกกังวล ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา
สาเหตุที่อาจทำให้เกิดการระเบิดอารมณ์ หรือสติแตก เช่น ความเศร้าที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว การเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างกะทันหัน ความเครียดสะสมจากการเรียนหรือทำงาน โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล นอนไม่หลับ หรือการตกเป็นเหยื่อความรุนแรง
สาเหตุคาดไม่ถึงที่อาจทำวัยรุ่นสติแตก
เมื่อรู้แล้วว่าความเครียด หรือ ความกังวลที่สะสมอาจเป็นสาเหตุของอาการสติแตกได้ ทีนี้เพื่อจะเข้าใจอาการสติแตกและหาวิธีรับมือได้อย่างเหมาะสม เราจึงต้องค้นให้พบที่มาของความเครียดและความกังวลที่อาจเกิดขึ้นกับวัยรุ่น
อย่างที่รู้กันดีว่า วัยรุ่น เป็นวัยที่ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเครียด กังวล ได้ง่าย โดยเฉพาะหากไม่ได้รับการเลี้ยงดูให้มีความมั่นคงทางอารมณ์มากพอตั้งแต่วัยเด็ก
ว่าแล้วลองมาดูกันค่ะว่า อะไรอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นมีภาวะเครียดหรือกังวล ซึ่งบางสาเหตุอาจเป็นเรื่องที่พ่อแม่คาดไม่ถึง การรู้ล่วงหน้า ก็น่าจะช่วยป้องกันอารมณ์จิตใจให้ลูกได้ระดับหนึ่ง
- การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นทุกคน แต่หากลูกวัยรุ่นไม่ได้รับคำแนะนำ หรือ ฝึกรับมือกับอารมณ์ต่างๆ ของตนเองมาก่อน ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นนี้ก็อาจนำไปสู่อาการสติแตกได้
- ความรู้สึกผิดต่อเนื่อง ความรู้สึกผิดถือเป็นประสบการณ์ทางอารมณ์ที่สำคัญที่วัยรุ่นควรเรียนรู้และก้าวผ่าน อย่างไรก็ตาม สำหรับวัยรุ่นบางคน ความรู้สึกผิดอาจไม่ได้เป็นบทเรียน แต่กลายเป็นความรู้สึกว่าตนเองถูกทำโทษซ้ำๆ เป็นบทเรียนที่ไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งความรู้สึกผิดอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่พูดถึงข้อผิดพลาดของลูกย้ำๆ บ่อยๆ หรือทำให้ลูกวัยรุ่นรู้สึกว่าเขา “สมควร” ที่จะได้รับบทเรียนเช่นนี้ จนเกิดเป็นความรู้สึกผิดต่อเนื่อง ยากที่จะก้าวผ่าน ส่งผลให้เกิดอาการสติแตกได้ในที่สุด
- โรคทางจิตเวช เช่น ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล บางครั้งอาการสติแตก ก็เป็นสัญญาณเบื้องต้นของโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล ผู้ป่วยโรคเหล่านี้ มักมีสาเหตุจากสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุลกัน ซึ่งสัญญาณของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล ที่พบบ่อย เช่น มีความภูมิใจในตนเองต่ำ หวาดระแวง รู้สึกว่าตนเองไม่มีประโยชน์ ขาดความสนใจทำกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น
สัญญาณเตือนก่อนวัยรุ่นสติแตก
ก่อนเกิดพายุ เราย่อมสังเกตได้ถึงก้อนเมฆตั้งเค้า ลมแรง สัญญาณต่างๆ ที่หากเราสังเกตก็จะสามารถรับมือได้ทันท่วงที ก่อนที่วัยรุ่นจะเกิดภาวะ Nervous Breakdown ก็เช่นกัน หากพ่อแม่สังเกตพฤติกรรม ใส่ใจความเป็นไปของลูก ก็อาจป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายเกินไปนัก
โดยทั่วไปก่อนที่ใครสักคนจะมีอาการสติแตกหรือ Nervous Breakdown มักมีสัญญาณเตือนล่วงหน้าที่พอสังเกตได้ คือ
- ขาดสมาธิ ทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถจดจ่อทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จได้ อีกทั้งยังอาจมีอาการความจำสั้น หลงลืมสิ่งต่างๆ ได้ง่าย
- นอนไม่หลับ ทำให้อ่อนเพลีย และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- เบื่ออาหาร หรือกินมากเกินไป บางคนเมื่อเครียดมากๆ อาจเบื่ออาหารกินอะไรไม่ลง ขณะที่บางรายอาจกินมากกว่าปกติ จนน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ปัญหาขับถ่าย ความเครียดเรื้อรัง ส่งผลต่อการขับถ่าย บางคนอาจมีอาการท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย
- เห็นภาพหลอน หากระดับความเครียดเพิ่มมากขึ้น อาจเห็นภาพหลอน หูแว่ว จนทำให้เกิดอาการหวาดวิตก
หากพ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของวัยรุ่น อาจเริ่มจากสอบถามความเป็นไปในชีวิตของลูก โดยการเป็นผู้ฟังที่ดี ปล่อยให้ลูกได้ระบายสิ่งที่พวกเขารู้สึกโดยที่พ่อแม่ไม่ด่วนตัดสิน หากประเมินแล้วว่าพ่อแม่ไม่อาจรับมือได้ ควรพาลูกพบจิตแพทย์
จะว่าไปแล้ว อาการเครียดหรือวิตกกังวล เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากพบว่าความรู้สึกเหล่านี้เอ่อล้นเกินกว่าจะรับมือ การให้แพทย์เป็นผู้แนะนำวิธีรับมือกับอารมณ์ต่างๆ ก็จะช่วยให้ผ่านความตึงเครียดนี้ไปได้ ซึ่งวิธีการรักษาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละเคส เพราะคนไข้แต่ละรายก็มีที่มาที่ไปแตกต่างกัน โดยแพทย์อาจเลือกใช้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การให้ยา หรือบำบัดผ่านการพูดคุยก็ได้
สุดท้ายแล้ว ความเครียด เป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้น แต่หากหมั่นสร้างความมั่นคงทางจิตใจ และเรียนรู้ที่จะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ก็น่าจะช่วยป้องกันอาการสติแตกในวัยรุ่นได้ไม่มากก็น้อย
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
Related Courses
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
How to รู้เท่าทันมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ทุกวันนี้การใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วว่าจะเลือกข้อมูลด้านไหน ...
การส่งเสริมทักษะเด็กออทิสติก
เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กออทิสติก เพื่อให้เป็นตัวช่วยในการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
วัยทีนยุคใหม่ จัดการเวลายังไงให้สมดุล
ในยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยสิ่งล่อตาล่อใจ ทั้งโซเชียลมีเดีย การเรียน กิจกรรมต่าง ๆ และการใช้ชีวิตส่วนตัว การจัดการเวลาจึงเป็นทั ...