Teacher as a Learning Expert
Teacher as a Learning Expert
ในอีก 10 ปี 20 ปี ข้างหน้ายังไม่มีใครจินตนาการได้ว่า โลกจะเป็นอย่างไร? ความท้าทายของครูในวันนี้ คือครูจะเตรียมเด็กให้พร้อมเผชิญโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวินาทีนี้ได้อย่างไร?
รศ.ประภาภัทร นิยม นักการศึกษาคนสำคัญของไทย ผู้เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ เน้นย้ำอยู่เสมอว่า เด็กคนทุกคนเรียนรู้ได้ ด้วยวิธีการที่แตกต่างหลากหลาย เช่น
#เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
#เรียนรู้จากการเห็นตัวอย่าง
#เรียนรู้จากการลงมือทำ
#เรียนรู้จากการฟังและการเชื่อมโยงเหตุและผล
หรือแม้แต่การเรียนรู้ที่มาจากการดู การฟัง การอ่าน จากความรู้ของผู้อื่นที่ได้บันทึกไว้ หากแต่สิ่งที่สำคัญคือ การเรียนรู้นั้นๆ ต้องถูกเชื่อมโยงเข้าหาตนเองอย่างลึกซึ้ง
พวกเขาต้องเข้าใจก่อนว่าเรียนเรื่องนั้นๆ ไปทำไม (ให้ความหมาย) เรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขาอย่างไร การเรียนเรื่องนั้นจะช่วยลดปัญหาหรือทำให้ชีวิตของพวกเขาและสังคมในวงกว้างดีขึ้นได้อย่างไร (เชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม) แล้วหากปล่อยผ่านไปจะเกิดผลย้อนกลับมาสู่ตัวพวกเขาอย่างไรบ้าง (เชื่อมโยงเข้าหาตนเอง) เหล่านี้เป็นกระบวนการสร้างความตระหนักใน "คุณค่า" แห่งการเรียนรู้ กระทั่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
นั่นเพราะมนุษย์ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้แฝงอยู่ในตัว และ “ครู” คือ กัลยาณมิตรคนสำคัญที่จะช่วยรักษาเมล็ดพันธุ์ที่ดีงามนี้ไว้ให้งอกงามและเติบโตต่อไปได้
“กัลยาณมิตรนั้นมักจะเล็งเห็นถึงมนุษย์สภาวะซึ่งเป็นความพิเศษที่มนุษย์ทุกคนมีมาตั้งแต่เกิด ได้แก่การทำงานของสมองอันวิจิตรพิสดาร จิตใจที่สามารถใคร่ครวญเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้ง จนสามารถตระหนักถึงคุณค่าที่แท้จริงของสรรพสิ่ง... ครูที่บอกกล่าวพร่ำสอนให้นักเรียนหยั่งถึงคุณค่าของความอดทน สร้างแรงบันดาลใจให้เขาฟันฝ่าอุปสรรคความยากไปจนบรรลุถึงความสำเร็จได้ด้วยตนเอง จึงช่วยนักเรียนรักษาเมล็ดพันธ์ที่ดีงามไว้ได้” (รศ.ประภาภัทร นิยม, ครูควรเป็นเช่นไร? เมื่อสังคมไทยกำลังอ่อนแอ)
บทบาทของครูในวันนี้จึงไม่ใช่ผู้บอกสอนอีกต่อไป รศ.ประภาภัทรชี้ว่า ครูจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญการเรียนรู้ - Teacher as a Learning Expert อันประกอบด้วย 6 สมรรถนะสำคัญ ดังนี้
▪ เป็นผู้มองเห็นการเรียนรู้ของผู้เรียน (Visible Learning & Teaching Vision) แม้จะวางแผนการสอนมาอย่างดีแล้ว แต่ขณะสอนครูต้องไม่ยึดเอาเป้าหมายของครูหรือตัวชี้วัดเป็นตัวตั้งจนหลงลืมที่จะสังเกตการเรียนรู้ของผู้เรียนตรงหน้า ครูต้องมีไหวพริบ สามารถปรับเปลี่ยนการสอนให้สอดคล้องกับอาการการเรียนรู้ ณ ขณะนั้นๆ ของผู้เรียนเป็นสำคัญ
▪ เป็นนักออกแบบการเรียนรู้ โดยใช้สถานการณ์จริงของโลกเป็นโจทย์ (Value Oriented Learning Designer with Real World Situation) หัวใจสำคัญที่จะทำให้ครูออกแบบการเรียนรู้ที่ดีได้ คือครูต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้เรียน หมั่นหาความรู้และมีจินตนาการ สามารถออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนแบบบูรณาการการลงมือปฏิบัติ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวาและเข้าไปในตัวผู้เรียนโดยที่ไม่รู้ตัว เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของผู้เรียน ผู้เรียนได้เรียนรู้และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริง เพราะ “ไม่มีทางที่ครูจะไปสอนเนื้อหาอะไรให้กับใครได้ ถ้าเขายังไม่ได้รู้สึกว่าเขาต้องการเนื้อหานั้นไปทำอะไร” (รศ.ประภาภัทร นิยม)
▪ เป็นผู้อำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Learning Culture Facilitator) รู้ประเด็นที่จะถามล่วงหน้า สามารถจับประเด็นจากคำตอบของผู้เรียน ประเมินความเข้าใจของผู้เรียนเป็นระยะ แล้วตั้งคำถามชุดใหม่เพื่อนำไปสู่เนื้อหาต่อไป มีสติ สามารถปรับบรรยากาศการเรียนรู้ให้ผ่อนคลาย เปิดพื้นที่และกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้แบบใฝ่รู้ (Active Learning) ให้ความสำคัญกับทุกคำตอบ ไม่ชี้นำ ไม่ด่วนตัดสิน
▪ ประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง (Authentic/Formative Assessment Evaluator) มีทักษะการวัดผลและประเมินผลที่สมรรถนะ ทักษะ และความสามารถของตัวผู้เรียนเป็นรายบุคคล เป็นการประเมินเพื่อช่วย ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และพัฒนา มีจิตสำนึกต่อการเรียนรู้ และมีพฤติกรรมที่ดีงาม
▪ เป็นกัลยาณมิตรของผู้เรียน (Interconnected Relationship Creator) ได้แก่ ๑.น่ารัก น่าเข้าหา ๒.น่าเคารพ เป็นที่พึ่งทางใจและปลอดภัย ๓.น่ายกย่อง ๔.รู้จักพูด เป็นที่ปรึกษา ๕.อดทนต่อถ้อยคำ ๖.สามารถอธิบายเรื่องยากให้ผู้เรียนเข้าใจได้ ๗.ไม่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย (กัลยาณมิตรธรรม ๗)
▪ เป็นนักเรียนรู้/แลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่เสมอ (Share+Learn through CRC+PLC) ผ่านกระบวนการสะท้อนชั้นเรียนเพื่อการเปลี่ยนแปลงโดยใช้วิดีโอบันทึกการสอน (CRC-Classroom Reflection to Change) และชุมชนแห่งการเรียนรู้ของนักปฏิบัติ (PLC-Professional Learning Community
โลกเปลี่ยน การจัดการเรียนรู้ก็ต้องเปลี่ยน และครูคือคนสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ อยากเห็นเด็กเป็นเช่นไร ครูต้องเป็นเช่นนั้นก่อน ถ้าครูเปลี่ยน เด็กก็จะเปลี่ยน
Related Courses
คุณสมบัติของครูในศตวรรษที่ 21
หลักสูตรสำหรับครูในศตวรรษที่ 21 เพื่อการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งเสริมให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง และจั ...
พื้นฐานการใช้เทคโนโลยี สำหรับครูยุคใหม่
หลักสูตรเพื่อก้าวสู่การครูยุคใหม่ซึ่งมีทักษะพื้นฐานทางดิจิทัลและความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในนำมาใช้ในการผลิตสื่อ ...
การประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง
การประเมินตามสภาพจริงเป็นการประเมินการปฏิบัติงานหรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเน้นประเมินทักษะการคิด ความสามาร ...
CIPPA Model สอนอย่างไรที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
การจัดการเรียนการสอนโดยใช้โมเดลซิปปาเป็นหลักการซึ่งสามารถนำไปเป็นหลักในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้แก่ผู้เรียน