ครูแนะแนวกับเด็กหญิงที่ฝันอยากเป็นนักจิตวิทยา และการศึกษาที่มีความหมายเมื่อได้ลงมือทำ

Starfish Academy
Starfish Academy 1725 views • 11 เดือนที่แล้ว
ครูแนะแนวกับเด็กหญิงที่ฝันอยากเป็นนักจิตวิทยา และการศึกษาที่มีความหมายเมื่อได้ลงมือทำ
  • กัน - ณัฏฐวิรินทร์ ปิยกันตา เคยเป็นเด็กไร้สัญชาติและเพิ่งได้สัญชาติไทยเมื่อปีที่แล้ว แค่เป็นพื้นที่ชายแดน โอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและทางเลือกที่หลากหลายก็น้อยแล้ว แต่สำหรับคนไร้สัญชาติ โอกาสที่ว่าก็ยิ่งน้อยลงไปใหญ่
  • แต่กันกลับเป็นเด็กที่สนใจในด้านจิตวิทยา เธอเริ่มหาข้อมูลด้วยตนเองตั้งแต่ ม.ต้น และมุ่งมั่นตั้งใจที่จะตามฝันให้ได้แม้คนรอบกายจะไม่มีใครรู้จักจิตวิทยาสักคน
  • จนกระทั่ง ครูชนะศักดิ์ คัมภิรานนท์ ครูแนะแนวได้ย้ายเข้ามาสอนในโรงเรียน เด็กหญิงผู้มีความฝันกับครูที่เชื่อในการลงมือทำจึงร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ที่นำนักเรียนไปสู่การศึกษาที่มีความหมายได้สำเร็จ 

 ไม่กี่ปีที่ผ่านมา จิตวิทยากลายเป็นศาสตร์ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ผู้คนเริ่มตระหนักรู้เรื่องของปัญหาสุขภาพจิต และหลาย ๆ คนก็เริ่มเข้าถึงความรู้พื้นฐานเรื่องสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ป่วยทางจิตเวช การดูแลและให้คำปรึกษาคนอื่น ๆ หรือการดูแลรักษาจิตใจตัวเองแต่หากย้อนไปนานกว่านั้น จิตวิทยายังเป็นเรื่องที่ไม่ถูกพูดถึงมากนัก หลาย ๆ คนยังไม่เปิดใจยอมรับว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่มีอยู่จริง และในพื้นที่ที่มีคนกลุ่มเปราะบางมากเท่าไร ก็ยิ่งมีคนตระหนักถึงเรื่องสุขภาพจิตน้อยลงไปเท่านั้นทว่าในโรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา ในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี บริเวณชายแดนไทย-พม่า ยังมีเด็กหญิงคนหนึ่งที่สนใจเรื่องจิตวิทยาและมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นนักจิตวิทยาให้ได้

กัน - ณัฏฐวิรินทร์ ปิยกันตา เคยเป็นเด็กไร้สัญชาติและเพิ่งได้สัญชาติไทยเมื่อปีที่แล้ว แค่เป็นพื้นที่ชายแดน โอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและทางเลือกที่หลากหลายก็น้อยแล้ว แต่สำหรับคนไร้สัญชาติ โอกาสที่ว่าก็ยิ่งน้อยลงไปใหญ่

“หนูรู้สึกว่าคนไร้สัญชาติถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาค่ะ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสหรือสิทธิก็มีน้อยกว่าคนที่มีสัญชาติอยู่แล้ว อย่างเหตุการณ์ที่เกิดจริง ๆ เมื่อปีที่แล้ว คือมีมหาวิทยาลัยที่เพื่อนคนหนึ่งอยากเข้ามาก ๆ อยู่ แล้วมันก็มีรอบที่เขารู้สึกว่าความสามารถเขาไปได้ถึง แต่พอจะทำเรื่องสมัคร มันมีเกณฑ์ว่ารับแค่เด็กที่มีสัญชาติไทย กลับกลายเป็นว่าเพื่อนไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะลงสนามแข่งกับเด็กอื่น ๆ”

นอกจากการเป็นคนไร้สัญชาติจะทำให้เธอเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้น้อยกว่าคนอื่น ๆ แล้ว พื้นที่ชายแดนยังเป็นพื้นที่ที่มีความเชื่อตามบริบทสังคมที่ฝังลึกว่าพวกเขาไม่สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้ได้ การเดินตามความฝันหรือแม้แต่การทำความเข้าใจตัวเองและค้นหาสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบจึงกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก

แต่กันกลับรู้ว่าตัวเองสนใจด้านจิตวิทยามาตั้งแต่ตอนที่อยู่ชั้นมัธยมต้น เธอพยายามค้นคว้าด้วยตัวเองว่าสิ่งที่เธอสนใจคืออะไร กระทั่งครูชนะศักดิ์ คัมภิรานนท์ ซึ่งเป็นครูแนะแนวได้ย้ายเข้ามาสอนที่โรงเรียนของเธอ

เรื่องราวการไล่ตามความฝันและการศึกษาที่มีความหมายของเด็กหญิงคนหนึ่งที่มีครูเป็นผู้ประคับประคองจึงเริ่มขึ้น ก่อนที่เธอจะสามารถศึกษาต่อที่ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สำเร็จ  

ความฝันที่อยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยของคนอื่น ๆ

อะไรที่ทำให้กันสนใจเรื่องจิตวิทยา

กัน : มันค่อย ๆ หล่อหลอมค่ะ ถ้าเป็นช่วงที่ปักเลยว่าจะเรียนด้านนี้ก็คือช่วง ม.4 ค่ะ ตอนนั้นรู้จักอาชีพจิตวิทยาแล้ว แล้วก็รู้ว่ามันเข้ากับเราได้ ในอดีตตั้งแต่เด็ก ๆ หนูบอกตัวเองว่าถ้าเราจะโตไปแล้วเราจะทำอาชีพอะไร อาชีพนั้นต้องไม่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ แต่มันก็ยังอยู่ในสายวิทย์ได้เพราะหนูชอบวิทยาศาสตร์ แล้วพอมาเจอจิตวิทยา มันก็เป็นทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมที่เราชอบด้วย เลยรู้สึกว่าจะเอาอันนี้แหละ แล้วด้วยความที่พื้นฐานหนูเป็นคนชอบรับฟังคนอื่น ชอบที่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของคนอื่น มันทำให้หนูรู้สึกใจฟูและสามารถนำตรงนั้นมาพัฒนาตัวเองได้ด้วย แล้วเวลาคนรอบข้างมีปัญหา โดยเฉพาะคนที่เรารัก ถ้าเราช่วยเขาไม่ได้มันจะรู้สึกแย่มาก ๆ เลยรู้สึกว่าเรียนสายนี้ดีกว่า อย่างน้อยเราก็ช่วยเหลือคนเหล่านี้ได้ อย่างน้อยเราก็เข้าใจได้ว่าสิ่งที่เขารู้สึกเขาเป็นอะไรอยู่

สำหรับกันแล้ว จิตวิทยาน่าสนใจตรงไหน

กัน : หนูรู้สึกว่ามันเป็นศาสตร์ที่พยายามทำความเข้าใจมนุษย์ หนูเลยรู้สึกมันเจ๋งตรงที่ว่า ถึงมนุษย์เราอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เราก็มักจะมีปฏิกิริยาตอบโต้ที่ต่างกัน ก็เลยอยากทำความเข้าใจว่าอะไรที่ทำให้มนุษย์เลือกที่จะแสดงออกในรูปแบบที่ต่างกันไป แล้วจิตวิทยาก็ทำให้เราสามารถช่วยเหลือคนได้โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์อะไรเลย แค่ใช้คำพูดเราก็สามารถช่วยชีวิตคนคนนึงได้แล้ว หนูว่ามันเจ๋งมากหนูเองก็ตอบยากว่าชอบจิตวิทยาเพราะอะไร มันไม่ได้มีจุดเปลี่ยนที่คิดว่าเราจะไปทางนี้เลย แต่มันเป็นการค่อย ๆ หล่อหลอมเรามากกว่าว่าแต่ละวันเราเจออะไรมา แล้วเราจะรับมือกับมันยังไง แต่สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องรับมือกับมันจริง ๆ คือจิตใจของตัวเอง พอเรารู้ตรงนี้แล้วเราก็อยากช่วยเหลือคนอื่นด้วย

นอกจากจิตวิทยา กันเคยสนใจอะไรอีกบ้าง

กัน : ก่อนหน้านั้นหนูอยากเป็นนิติวิทยาศาสตร์ คงเป็นเพราะเกมหรือจากหนังอะไรสักอย่างที่เคยดูตอนเด็ก ๆ มันเป็นการช่วยเหลือและพูดแทนคนที่ไม่มีโอกาสพูดแล้ว เป็นการสร้างความยุติธรรมครั้งสุดท้ายในชีวิตให้เขา แต่แม่ไม่เห็นด้วย แม่บอกว่ามันเสี่ยงและอันตราย พอมาคิดดูมันก็ไม่เหมาะกับเราจริง ๆ เพราะเรากลัวเลือด แล้วมันก็เป็นช่วงที่เรารู้จักจิตวิทยาแล้ว เราเลยมุ่งมาสายนี้เลย

กันรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่เราสนใจคือจิตวิทยาทั้งที่ในโรงเรียนไม่ได้มีสอนเรื่องนี้

กัน : ตอนแรกที่หนูสนใจเรื่องจิตวิทยา ก่อนที่ครูชนะศักดิ์จะย้ายมาบรรจุที่โรงเรียน รอบข้างหนูยังไม่มีคนรู้จักอาชีพนี้เลย หนูแค่คิดว่าเราอยากทำมัน เราอยากเป็นคนที่ยืนอยู่ตรงนั้นแล้วช่วยเหลือคนอื่นได้ ไม่รู้จักใช่ไหม เดี๋ยวทำให้ดู

อันดับแรกหนูก็เข้ากูเกิ้ลเลยค่ะ พยายามหาข้อมูลหลาย ๆ อย่างทั้งโอกาสการเติบโตของอาชีพ แนวทาง อาชีพ ตอนนั้นเป็นช่วงที่หนูอยู่ ม.2-3 มันยังไม่มีข้อมูลเยอะเพราะจิตวิทยายังไม่ได้รับความสนใจเท่าทุกวันนี้ มันเลยหาข้อมูลได้ยาก แต่พอเรามีข้อมูลได้ประมาณนึงเราก็อยากรู้ว่า พี่ ๆ ที่เขากำลังเรียนอยู่ในสาขานี้จริง ๆ หรือพี่ที่เขาจบไปเป็นนักจิตวิทยาจริง ๆ เขาเป็นยังไง เพราะสิ่งที่คิดกับความเป็นจริงมันย่อมต่างกันอยู่แล้ว ก็พยายามหาข้อมูลต่อไม่ว่าจะเป็นตามคลับเฮาส์ ทวิตเตอร์ หรือที่ไหนก็ตามที่เขาให้ข้อมูลเรื่องนี้ ก็จะสอบถามจากช่องทางนี้เป็นส่วนใหญ่ เป็นการหาข้อมูลทางออนไลน์มากกว่า

My Mirror กระจกส่องใจ : การเรียนรู้จากการลงมือทำที่นำไปสู่การศึกษาที่มีความหมาย

แล้ววันหนึ่งความฝันที่จะเป็นนักจิตวิทยาของกันก็ชัดเจนขึ้นหลังการมาถึงของ ครูชนะศักดิ์ คัมภิรานนท์ ครูแนะแนวที่ย้ายเข้ามาสอนในโรงเรียนอุดมสิทธิศึกษาที่เธอเรียนอยู่เมื่อรู้ว่าครูจบจิตวิทยาแนะแนวมา กันก็ไม่รอช้าที่จะเข้าไปปรึกษาและบอกเล่าความฝันของเธอให้ครูฟังอาจเป็นความโชคดีที่ครูที่เชื่อในการลงมือทำ ได้มาพบเจอกับเด็กที่มีเส้นทางความฝันชัดเจนและพร้อมยิ่งกว่าพร้อมที่จะได้ลองลงมือทำในสิ่งที่เธอสนใจ โครงการ my mirror กระจกส่องใจ จึงเกิดขึ้นในโรงเรียนติดชายแดนแห่งนั้น

ตอนนั้นคุณครูช่วยออกแบบการเรียนรู้ให้น้องกันยังไงบ้าง

กัน : ตอนนั้นพอหนูรู้ว่าครูจบด้านจิตวิทยาแนะแนวมา ก็เข้าไปบอกครูว่าหนูอยากเรียนสายนี้ ครูก็ถามว่าอยากเรียนจริง ๆ ใช่ไหม อยากทำจริง ๆ ใช่ไหม เพราะถามว่าในอนาคตมันไปต่อได้ยากไหม บางส่วนก็ยาก และเราไม่ได้มีต้นทุนขนาดนั้น พอมันมีคาบว่างหนูก็พยายามเข้าหาครูว่าหนูอยากทำอันนี้ เข้าม.นี้ หนูก็พยายามเข้าหาครูตลอด จนได้มีโอกาสร่วมงานจริง ๆ

ครูชนะศักดิ์ : ผมก็พาเขาไปลงมือทำ ให้เขารู้เลยว่าสิ่งนั้นเป็นยังไง สิ่งที่เขาคิดกับสิ่งที่เขาทำมันต่างกันไหม หรือมันมีปัญหามีอุปสรรคไหม จะมีความรู้น้อยหรือมากไม่สำคัญ สิ่งที่เราเน้นคือสิ่งที่เขาทำมันได้อะไรกลับมา ถ้าเราได้ปัญหาเราจะได้รู้ว่าปัญหาเป็นยังไง แต่ถ้าเราได้สิ่งอื่นที่นอกเหนือจากปัญหา เราก็เอาไปต่อยอดได้

คุณครูให้กันลองทำกิจกรรมอะไรบ้าง

ครูชนะศักดิ์ : ที่โรงเรียนเป็นโรงเรียนที่อยู่ติดชายแดน จะมีเด็กที่ไม่มีสัญชาติหรือเด็กจากฝั่งพม่ามาเรียนฝั่งไทยบ้างซึ่งเป็นเด็กในกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเป้าหมายในโครงการที่ให้กันทำเลยเป็นกลุ่มเด็กหอซึ่งมีความแตกต่างจากคนอื่น เช่น ขาดแคลนทุนทรัพย์จึงมาอยู่หอ บ้านไกล น้ำไฟไม่มี มาจากหมู่บ้านที่ยังเป็นป่าเขา เราเลยอยากให้เด็กเห็นคุณค่าของตัวเอง ก็เลยให้กันลองออกแบบโครงการเกี่ยวกับการสะท้อนตัวเองและการเห็นคุณค่าของตัวเอง ให้เขาลงมือทำโดยให้เขาคิดโจทย์เอง แก้ไขปัญหาเอง โดยเราเป็นโค้ชอยู่ใกล้ ๆ ในทุกกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มหาข้อมูลและวางแผน มีการวางแผนประชุมงานเหมือนการทำงานจริงเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยว่าคุณจะไปทำงานคุณต้องเจอกระบวนการนี้ เพราะฉะนั้นกันก็จะเจอทุกกระบวนการ ผมก็อยู่กับกันตลอดของกันเขาเป็นกรณีศึกษาเลยก็ว่าได้ที่เด็กจะให้ความสนใจกับแนวทางที่ตัวเองอยากศึกษาต่อ ซึ่งมันเด่นมากจนเราต้องให้เขาลอง เขาก็ทำออกมาได้ดี แล้วมันก็ทำให้เราได้เห็นว่าเด็กคนหนึ่งที่เขาพยายามเดินตามเส้นทางที่เขาเลือกมันต้องทำอะไรบ้าง

ช่วยเล่าโครงการที่เกี่ยวกับจิตวิทยาที่ได้ลงมือทำในโรงเรียนให้ฟังหน่อย

กัน : หนูเริ่มจากการคิดโครงการว่าโครงการอะไรที่เหมาะกับน้อง ๆ กลุ่มนี้บ้าง ถ้าเราทำแล้วมันน่าเบื่อไหม น้องจะสนใจไหม ก็เลยคิดโครงการชื่อว่า “My Mirror กระจกส่องใจ” ขึ้นมา ซึ่งจะมีเกม มีกิจกรรมให้น้องเล่นด้วย วิธีการก็จะให้น้อง ๆ ลองลิสต์สิ่งที่ตัวเองถนัด ข้อดีข้อด้อยของตัวเอง แล้วเรามาดูกันว่าอะไรเป็นจุดเด่นของน้อง อะไรที่น้องต้องพัฒนา และให้น้องเห็นว่าสิ่งที่น้องมีแล้วมันดีคืออะไร แล้วจะเอาไปต่อยอดยังไง

ผลลัพธ์ออกมาได้ดีประมาณหนึ่งค่ะ โจทย์ในใจคือหนูอยากให้น้องรู้ว่าน้องชอบอะไร แล้วเขามีคุณค่าอะไรในตัวเอง จริง ๆ เด็กกลุ่มนี้เขาจะรู้สึกว่าตัวเองทำไม่ได้ ตัวเองมีไม่พร้อม ด้วยสภาพแวดล้อมมันไม่ได้เอื้อให้เขามีความฝันขนาดนั้น ส่วนใหญ่เรียนจบ ม.3 แล้วกลับบ้าน อยู่กับบรรยากาศเดิม ๆ หนูเลยรู้สึกว่าอยากให้น้องลองมองใหม่ มองศักยภาพที่ตัวเองมี ไปในทางที่เราอยากไปจริง ๆ โดยใช้ความมุ่งมั่นของตัวเองแล้วโอกาสมันจะมาเอง พอทำกิจกรรมแล้วมันก็มีน้อง ๆ ที่คอยทักมาถามว่า น้องอยากเรียนต่อสายนี้นะ น้องอยากไปสายนี้ เราสามารถทำให้น้องเห็นภาพความฝันของตัวเองได้และเลือกทางของตัวเองได้ หนูคิดว่านี่คือสิ่งที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ สำหรับหนู

ห้องเรียนในฝันสำหรับเด็ก ๆ ที่สนใจด้านจิตวิทยาในความคิดของน้องกันควรเป็นห้องเรียนแบบไหน

กัน : หนูอยากให้มีวิชาที่เน้นเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตเพราะเด็ก ๆ เขามีแค่บ้านกับโรงเรียน ภูมิต้านทานของเด็กมันน้อยและไม่ได้มีทักษะในการจัดการตัวเองเท่าผู้ใหญ่ เลยอยากให้มีวิชาดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง หรือวิชาเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาและการเข้าใจคนอื่น มันสำคัญมาก ๆ ทั้งต่อตัวเด็กและสิ่งที่เด็กแสดงออกซึ่งจะส่งผลต่อสภาพโดยรวมของสังคมด้วย

พอได้เรียนภาควิชาจิตวิทยาจริง ๆ แล้วมันเหมือนกับที่เราคาดหวังไว้ไหม

กัน : หนูไม่ได้คาดหวังขนาดนั้นเพราะมันมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่จะบอกได้ว่าสิ่งที่เราเรียนมันดีหรือไม่ดีซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่เนื้อหาที่เรียน แต่พอเข้าไปเรียน มันดีเกินกว่าที่เราจิตนาการไว้ค่ะ เพราะไม่ว่าจะเป็นบริบทของสังคมที่อยู่ อาจารย์ เพื่อน ๆ การเรียนการสอนมันคอยรองรับเราหลาย ๆ อย่างปี 1 เทอมแรกจะได้เรียน general psychology เป็นพื้นฐานทุกอย่างเกี่ยวกับจิตวิทยาตัวเดียวเน้น ๆ ไปเลยค่ะ ส่วนเทอมสองจะเรียนจิตวิทยาบุคลิกภาพและจิตวิทยาสังคม มันว้าวมากเลย บางอย่างมันเป็นมุมที่เราไม่เคยคิดมาก่อนในชีวิตแต่มันกลับสำคัญกับเราด้วย บางเรื่องที่ดูเป็นแค่คำคมมันก็มีทฤษฎีจริง ๆ มันทำให้เราเห็นภาพชีวิตง่ายขึ้น เป็นเวลาแค่ปีเดียวแต่หนูรู้สึกว่าพอไปเรียนแล้วเราใช้ชีวิตง่ายขึ้น มองโลกในมุมที่กระจ่างขึ้นด้วย

การศึกษาที่มีความหมายของกันคือการศึกษาแบบไหน

ครูชนะศักดิ์ : การศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ในเมื่อเขาเลือกเส้นทางของเขาแล้ว ผมก็อยากให้เขาได้ลองเปิดประสบการณ์ไปเลย เขาจะได้ไม่ต้องสับสน เพราะการเรียนหลาย ๆ วิชาจนเยอะเกินไปมันทำให้เด็กเป๋ได้ เดี๋ยวคะแนนวิชานั้นตก คะแนนวิชานี้ตก ก็จะงงว่าฉันจะไปทางไหนดี เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ตรงจุดที่เขาอยากทำได้จริง ๆ ก็จะดีกว่าส่วนตัวผมเคยนั่งคุยกับเด็กที่เขาโดดเรียน เด็กที่โดดเรียนเขาจะเลือกเข้าเฉพาะสิ่งที่เขาอยากเรียนจริง ๆ มันทำให้เขาได้คะแนนเรื่องการเข้าคาบ ใบงานของการทำรายงานวิชานั้น วิชาที่เขาไม่ชอบเขาได้แค่เกรด 1 แต่เขาก็สามารถเข้าเรียนต่อในเส้นทางที่เขาชอบได้ เพราะเขาเลือกในสิ่งที่เขาชอบจริง ๆ ผมไม่ได้บอกว่าให้ทุกคนไปทำอย่างนั้น แต่ผมยกตัวอย่างว่าการศึกษาถ้าเราเน้นไปสิ่งที่เราชอบ มันมักจะทำได้ดีกว่าปกติ ดีกว่าเราไปเน้นทุกอย่างจนเกิดความสับสน มันจะทำให้เราเรียนแล้วไม่สนุก เรียนแล้วไม่สุขสันต์

กัน : เป็นการศึกษาที่เราสามารถไปปรับใช้ได้จริง เพราะการศึกษาในปัจจุบันมักจะมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับเกรดและตัวเลข อาจปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าการมีเกรดที่ดีมันช่วยสร้างโอกาสหลาย ๆ อย่าง ตัวหนูเองก็มีวิชาที่เราเรียนแล้วพยายามจนได้คะแนนดี แต่สุดท้ายพอสอบเสร็จ เราเอาไปใช้ได้จริงหรือเข้าใจมันอย่างแท้จริงหรือเปล่า ตรงนี้หนูไม่ผ่านเลย ตอนที่หนูเรียน ม.4 ต้องเรียนถึง 13 วิชา มันทำให้จับต้องได้ยาก เด็กไปใส่ใจแค่การสอบ พอสอบเสร็จ 13 วิชานั้นก็หายไปเลยตอนนี้ที่หนูเรียนจิตวิทยาอยู่มันคือการศึกษาที่มีความหมายจริง ๆ เพราะหนูสามารถนำสิ่งนั้นมาใช้ได้จริง สามารถมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เรารับรู้การโต้ตอบกับคนอื่น การควบคุมตัวเอง สำหรับหนูมันมีความหมายมากเลย ถ้าเป็นวิชาที่ใช้ได้จริง มันจะดีต่อตัวเด็กด้วย หนูเข้าใจว่าเขาอยากให้เรารู้เรื่องของพื้นฐาน แต่ถ้าอยากมีวิชานี้ ก็ให้เราเลือกเลยว่าเราอยากเรียนวิชาไหน เราถนัดวิชาไหนดีกว่า มันจะได้ตรงกับความสนใจของเด็ก เด็กแต่ละคนก็จะสามรถหยิบจับสิ่งที่เขาชอบหรือสนใจมาปรับใช้ให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้

ครูแนะแนว : บทบาทที่เปรียบเหมือนพี่เลี้ยงนักมวยในโรงเรียน

  “ความเชื่อเป็นบ่อเกิดของความสำเร็จ” คือสิ่งที่ครูชนะศักดิ์เชื่อ แม้กันจะเป็นเด็กสาวที่มีความมุ่งมั่นและมีความฝันที่ชัดเจนจนทำให้เธอทำตามความฝันที่จะเรียนจิตวิทยาได้สำเร็จแล้ว แต่เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ในบริเวณชายแดนกลับมีความเชื่อจากบริบทสังคมที่ฝังแน่นและฉุดรั้งให้พวกเขาไม่กล้าฝัน เด็ก ๆ หลายคนยอมออกจากโรงเรียนเพื่อไปปลูกต้นไม้อย่างที่พ่อแม่โน้มน้าว เด็กบางคนไม่เคยกล้าที่จะลองค้นหาตัวเองดูจริง ๆ จัง ๆ ว่าพวกเขาชอบอะไรงานของครูแนะแนวจึงเหมือนพี่เลี้ยงนักมวยที่ต้องทำความรู้จักความแตกต่างของเด็กแต่ละคน ประกบคู่เพื่อช่วยให้เขาค้นหาตัวเองให้เจอ และออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับพวกเขา เพื่อสร้าง “ความเชื่อ” ที่จะทำให้พวกเขาเอาชนะความเชื่อในสังคมที่พวกเขาอยู่ และทำให้พวกเขารู้ว่าพวกเขาเองก็มีฝันได้

จริง ๆ บทบาทของครูแนะแนวต้องทำอะไรบ้าง

ครูชนะศักดิ์ : ในบทบาทของครูแนะแนวจริง ๆ ก็สอนวิชาที่เกี่ยวกับทักษะชีวิต แบ่งได้เป็นการศึกษา อาชีพ เรื่องส่วนตัวและสังคม เป็นองค์รวมของศาสตร์ที่ต้องใช้จิตวิทยาเข้ามาช่วยในการสร้างให้เด็กมีทักษะชีวิต ความสัมพันธ์โดยรวมของครูแนะแนวกับเด็ก มันเหมือนพี่เลี้ยงนักมวย เราต้องวอร์มและโค้ชเด็กทุกคนให้เท่า ๆ กันตามความถนัดของเขาเพื่อให้เขาไปต่อได้ในเส้นทางที่เขาชอบ อย่างกันชอบจิตวิทยา เราก็ต้องมีสัมภาษณ์เขาว่ามันเป็นยังไง และมีบททดสอบให้เขาด้วย เราต้องฝึกซ้อมและเตรียมความพร้อมให้เขาตลอดเวลาเพื่อให้เด็กแข็งแกร่ง ให้ออกไปยืนบนเส้นทางของเขาได้อย่างสง่างามเด็กแต่ละคนก็มีความแตกต่างและชอบไม่เหมือนกัน บางคนนิสัยต่างกัน บริบทที่บ้านต่างกัน ต่อให้เขาเรียนเรื่องเดียวกันความเข้าใจเขาอาจจะต่างกันก็ได้ มันเลยต้องคลุกคลีกับเด็ก รู้จักเด็กจริง ๆ ว่าเขาเป็นยังไง มันถึงจะดึงเขาให้เขาไปสู่สิ่งที่เราอยากให้เขาเรียนรู้ได้เร็วขึ้น

คุณครูทำความรู้จักกับเด็กและชวนเด็ก ๆ เปิดบทสนทนาเพื่อค้นหาตัวตนของเขาอย่างไรบ้าง

ครูชนะศักดิ์ : เราก็ศึกษาเส้นทางการเป็นเขาเลย ผมเป็นครูคนเดียวที่เวลาเด็กนั่งเล่นเกมเราจะเข้าไปคุยกับเขา เรื่องพวกนี้ผมเคยโดนว่าว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่จริง ๆ การเข้าไปคุยกับเด็กตอนเขานั่งเล่นเกมมันไม่ใช่เรื่องไร้สาระ มันคือการที่เราเข้าไปสัมผัสบทบาทของเขาอีกบทบาทหนึ่งที่เขาอยากจะเป็น ถ้าคุยเรื่องเกมเราก็คุยได้ ต่อให้เราเล่นไม่เป็น แต่เราก็คุยกับเขาเรื่องตัวละครอะไรก็ได้ในเกมสักหนึ่งตัว เขาก็จะรู้สึกว่ายังมีคนอยากรู้เรื่องของเขา เขาก็จะค่อย ๆ เปิดใจให้เราจริง ๆ การออกแบบการเรียนรู้ในห้องเรียนของผมก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะคนเรามักจะมีจุดมุ่งหมายคืออยากขจัดสิ่งที่เราไม่รู้อยู่แล้ว การสอนกับเรื่องที่คุยกันนอกห้องเลยแทบจะเหมือนกัน ในห้องเราสอนเรื่องการวางแผนการไปศึกษาต่อ นอกห้องเป็นยังไงในห้องก็เป็นอย่างนั้นเพราะเราเรียนรู้ได้ตลอดเวลา มันไม่แตกต่างกัน เด็กเลยเข้าถึงได้ง่าย ไม่รู้สึกว่าต้องรอไปถามในคาบ อยากคุยตรงไหนก็ได้

การค้นหาความชอบของตัวเองขึ้นอยู่กับเด็กหรือครูผู้สอนมากน้อยแค่ไหน

ครูชนะศักดิ์ : เด็กแต่ละคนก็มีชีวิตที่ต่างกัน แต่เด็กที่นี่เขาจะมีความคาดหวังว่าครูต้องเป็นที่พึ่งให้เขาได้ เขาก็จะมีคำถามหลายร้อยคำถามมาถามเราซึ่งเราก็ตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เขาก็เชื่อเรา ผมเลยคิดว่าเรามีอิทธิพลต่อเขามาก ๆ โดยเฉพาะการสร้างแรงจูงใจให้เขาไปถึงจุดที่เขาอยากไปจริง ๆ ผมว่าทุกคนชอบตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราชอบอะไร ถนัดอะไร แต่น้อยคนที่จะยอมขุดหาสิ่ง ๆ นั้น แต่ผมคิดว่าความเชื่อมันเป็นบ่อเกิดของหลาย ๆ อย่างรวมถึงความสำเร็จ ผมอยู่ชายแดน สิ่งที่เด็กตัดสินใจจะเลือกมันเกี่ยวกับความเชื่อเยอะและแกะออกยากมาก กรณีของกันก็ดีที่ครอบครัวของเขาไม่ได้มีความเชื่อหรือความกดดันสูง แต่มีเด็กคนนึง มาร้องไห้ที่ห้องแนะแนว เพราะไปแข่งด้านการตัดต่อแล้วได้รางวัลระดับประเทศ อยากเรียนต่อมาก แต่ผู้ปกครองบอกว่าไม่มีอะไรดีเท่าอยู่กับพ่อแม่หรอก อยู่ที่นี่แหละ ปลูกต้นไม้ขาย เขาก็ไปปลูกต้นไม้ขายเพราะเขาขัดไม่ได้ ผมเป็นครูแนะแนวมา พอได้รู้จักกับเด็กที่นี่ก็เพิ่งรู้ว่ามิติในการเลือกเรียนของเด็กมันลึกกว่าที่เคยรู้

แล้วสำหรับกัน ครอบครัวมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนความชอบของกันไหม

กัน : อาจไม่ถึงกับทำให้รู้ว่าเราชอบอะไร แต่เขาเชื่อว่าอยากทำอะไรก็ทำ ทำในที่นี้คือเราต้องรับผิดชอบตัวเองได้ แล้วแม่เขาก็เชื่อมั่นในตัวเราด้วย เพราะเราบอกเขาว่าอยากเป็นนักจิตวิทยามาตั้งแต่เด็ก ๆ เขาก็เห็นความมุ่งมั่นของเรา เมื่อก่อนเขาไม่ได้อยากให้เรียนต่อขนาดนั้น อยากให้ทำธุรกิจมากกว่า แต่เขาก็เห็นความมุ่งมั่นของเราแล้วปล่อยให้เราได้ทำ เขาไม่ขัด แต่ถ้าวันไหนเราไม่ไหวจริง ๆ เขาก็รอรับอยู่

นอกจากน้องกันแล้ว มีเคสไหนที่คุณครูอยากเล่าให้เราฟังอีกไหม

ครูชนะศักดิ์ : เป็นเด็กที่มาปรึกษารุ่นเดียวกับกันครับ ปีที่กันจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีเด็กเข้ามาหาผมเยอะมาก เต็มห้องแนะแนวเลย เด็กคนหนึ่งเขามีปัญหาทางด้านทุนทรัพย์ เขาย้ายมาจากโรงเรียนในป่า มาเรียนที่นี่ตอน ม.ปลาย เขาไม่เหมือนกันที่ตอน ม.6 ก็มีความฝันและค้นหาตัวเองมาแล้วสัปดาห์นั้นเป็นสัปดาห์สุดท้ายก่อนการสอบและเป็นสัปดาห์ที่โรงเรียนปิด เขาเพิ่งมารู้ตัวว่าอยากเรียนแต่ไม่มีทุนทรัพย์และไม่รู้ด้วยว่าตัวเองชอบอะไร ผมก็เรียกเขามาที่ห้องแนะแนวแล้วให้เขามาเขียนสิ่งที่เขาชอบเพื่อทำความเข้าใจกับตัวเอง เรามีความเชื่อว่าความเชื่อเป็นบ่อเกิดของความสำเร็จหลาย ๆ อย่าง เราก็ให้เด็กได้คุยกับตัวเองว่าเขามีความเชื่อยังไงเกี่ยวกับตัวเอง เขาก็เขียนบรรยายเกี่ยวกับตัวเองมาว่าถนัดอะไรไม่ถนัดอะไร ค้นหาแบบนี้ไปสัปดาห์นึงแบบจริงจังตั้งแต่เช้ายันเย็น ผลสรุปแล้วชอบจับกล้องแต่เล่นกล้องไม่เป็น ชอบตัดต่อวิดีโอ ชอบตัดต่อภาพเราก็ถามย้ำว่าถ้าจะเรียนด้านนี้ต้องเรียนสาขาอะไร เขาก็ไม่รู้ เราก็ต้องให้เขาค้นหาตัวเองลึกลงไปอีก เขียนบรรยายถึงตัวเองหลายแผ่นมากครับ สุดท้ายก็พบว่าเขาทำอะไรไม่เป็นเลยทั้งที่เกี่ยวกับกล้องและโปรแกรม ผมก็สอนว่า Photoshop ทำแบบนี้ Adobe Illustrator ทำแบบนี้ ตัดต่อทำแบบนี้ ชอบไหม อยู่ได้ไหม เขาก็ชอบ พอรู้ว่าตัวเองชอบอะไรก็มีทุนเข้ามาพอดี เราก็เลยยื่นทุนนี้ให้เขา ผลสรุปเขาเลยได้ทุนนี้ไปเรียนต่อ ตอนนี้ก็จะขึ้นปีสองแล้วมันทำให้เห็นว่าการค้นหาตัวเองแบบจริง ๆ จัง ๆ แม้จะแค่สัปดาห์เดียว จริงจังในการคุยกับตัวเอง ค้นหาความเชื่อตัวเอง เขียนบรรยายตัวเอง มันทำให้เขามีความสุขกับตัวเอง จากเด็กที่เริ่มต้นจากศูนย์ ให้เวลาเขาแค่สัปดาห์เดียว มันก็ทำให้เขาประสบความสำเร็จได้นะ ทุกวันนี้เขาถ่ายรูปเป็น แต่งภาพเป็น ตัดต่อเป็น แสดงว่าสิ่งที่เราพยายามพาเด็กทำมันได้ผลจริง ๆ มากกว่าที่เรามานั่งพูด บางทีเราอาจบรรยายไม่เก่งแต่เราพาเขาทำในกระบวนการนั้น เขาก็อาจจะไปถึงเป้าหมายแบบกันก็ได้

มาร่วมเรียนรู้กับ Starfish Labz

แหล่งเรียนรู้และชุมชนออนไลน์เพื่อนักการศึกษาและผู้ปกครอง

ลงทะเบียน

Related Courses

เครืองมือครู
ด้านความร่วมมือการ ทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ ด้านการสื่อสาร สารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ ด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม
basic
3:30 ชั่วโมง

นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!

วันนี้ Starfish Labz มีเคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยให้ครูผู้สอนได้เทคนิคการออกแบบกิจกรรมใน Booklet ให้มีความน่าสนใจ สร้างสรร ...

นจรส  ศิริขรรแสง (ครูเจ)
นจรส ศิริขรรแสง (ครูเจ)
นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!
นจรส  ศิริขรรแสง (ครูเจ)

นวัตกรรม Booklet ทำอย่างไรให้ ว้าว!

นจรส ศิริขรรแสง (ครูเจ)

ต้องใช้ 100 เหรียญ

Future Ready
ด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม การรู้จักตนเอง
basic
2:00 ชั่วโมง

การพัฒนาทักษะในอนาคตด้วย Makerspace

ในคอร์สนี้ จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมผู้เรียน เพื่อพัฒนาให้เกิดทักษะที่จำเป็นในอนาคต ผ่านการจัดการเรียนรู้แบบ Ma ...

Starfish Academy
Starfish Academy
การพัฒนาทักษะในอนาคตด้วย Makerspace
Starfish Academy

การพัฒนาทักษะในอนาคตด้วย Makerspace

Starfish Academy
ทักษะสําคัญแห่งโลกอนาคต
ด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา การรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนเอง การรู้จักตนเอง การบริหารจัดการตนเอง
basic
2:00 ชั่วโมง

ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)

การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...

Starfish Academy
Starfish Academy
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
Starfish Academy

ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)

Starfish Academy
1584 ผู้เรียน
เครืองมือครู
ด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา
basic
3:00 ชั่วโมง

การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ในห้องเรียน Active learning

วัดและประเมินผลอย่างไร ให้ตอบโจทย์การเรียนรู้แบบ Active learning เลือกเครื่องมือวัดผลอย่างไรให้หลากหลาย ตรงตามเ ...

นางสาววรัญญา ธัญญาผล
นางสาววรัญญา ธัญญาผล
การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ในห้องเรียน Active learning
นางสาววรัญญา ธัญญาผล

การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ในห้องเรียน Active learning

นางสาววรัญญา ธัญญาผล

ต้องใช้ 100 เหรียญ

Related Videos

พื้นที่แห่งการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21
04:37
Starfish Future Labz

พื้นที่แห่งการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21

Starfish Future Labz
5993 views • 2 ปีที่แล้ว
พื้นที่แห่งการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21
Starfish Future Labz Celebration
04:16
Starfish Future Labz

Starfish Future Labz Celebration

Starfish Future Labz
99 views • 1 ปีที่แล้ว
Starfish Future Labz Celebration
Makerspace Day #1
07:41
Starfish Academy

Makerspace Day #1

Starfish Academy
444 views • 1 ปีที่แล้ว
Makerspace Day #1
แบ่งปันไอเดียสร้างห้องเรียนสมรรถนะตามเกณฑ์ วPA สอนอย่างไรให้ผ่าน PA
01:03:03
Starfish Academy

แบ่งปันไอเดียสร้างห้องเรียนสมรรถนะตามเกณฑ์ วPA สอนอย่างไรให้ผ่าน PA

Starfish Academy
419 views • 9 เดือนที่แล้ว
แบ่งปันไอเดียสร้างห้องเรียนสมรรถนะตามเกณฑ์ วPA สอนอย่างไรให้ผ่าน PA