สร้างรายได้จาก สมุดบันทึก KDP ทำง่าย ไม่ต้องใช้เงินทุน
หากจะบอกว่าเด็กยุคใหม่โชคดีกว่าคนรุ่นพ่อแม่ ในเรื่องโอกาสหารายได้พิเศษก็คงไม่ผิดนัก ยิ่งหากว่ามีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี สามารถประยุกต์ทักษะที่มีเชื่อมโยงเข้าสู่โลกออนไลน์ โอกาสการหารายได้ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นทวีคูณ
สำหรับวัยรุ่นที่มีทักษะด้านศิลปะ ชื่นชอบการออกแบบ ขีดๆ เขียนๆ การทำสมุดบันทึกออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางง่ายๆ ที่อาจสร้างรายได้โดยไม่ต้องลงทุนสักบาท
บทความนี้ Starfish Labz จะพาไปรู้จักับสมุดบันทึก Amazon KDP ไอเดีย และวิธีการวางจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ในเวลาว่างกันค่ะ
Amazon KDP คืออะไร
สำหรับใครที่มีความฝันอยากผลิตผลงานวางจำหน่าย เปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ของคุณเอง ในยุคนี้ความฝันเป็นจริงได้ง่ายๆ เพราะ Amazon.com เว็บไซต์จำหน่ายหนังสือออนไลน์ยักษ์ใหญ่ที่ใครๆ ก็รู้จัก ได้เปิดให้บริการ Amazon KDP หรือ Kindle Direct Publishing ที่ให้ผู้ใช้จำหน่าย E-book, สมุดบันทึก, แพลนเนอร์ ฯลฯ ที่เราออกแบบได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุน เพียงแต่ต้องมีไอเดีย ลงแรง ลงเวลา ในการออกแบบ เมื่อผลงานพร้อมแล้วก็จำหน่ายผ่าน Amazon KDP ได้เลย วิธีการจำหน่ายก็เพียงแค่อัปโหลดผลงานของเราลงไป เมื่อมีการสั่งซื้อ Amazon KDP จะพิมพ์ผลงานของเรา จัดทำรูปเล่ม แล้วส่งให้ถึงมือลูกค้า เรามีหน้าที่เพียงออกแบบ และอัปโหลดเท่านั้นเอง
สำหรับวิธีการจ่ายเงิน Amazon KDP จะคำนวณต้นทุนในการจัดพิมพ์ แล้วหักจากราคาขายที่เราตั้งไว้ ยอดที่เหลือคือรายได้ของเราที่จะโอนเข้าบัญชีตามเงื่อนไขของ Amazon KDP นั่นเอง
โดยเงื่อนไขการจ่ายเงินสำหรับ E-book จะอยู่ตั้งแต่ 35-70% จากราคาขายที่เราตั้งไว้ ขึ้นอยู่ว่าเราเลือกเปอร์เซ็นต์อย่างไรตอนสมัคร แต่สำหรับการจำหน่าย Paperback หรือพวกสมุดบันทึก หรือแพลนเนอร์ต่างๆ จะอยู่ที่ 70% จากราคาที่ตั้งไว้ ไม่รวมภาษีและค่าตีพิมพ์
หมายความว่าหากเราตั้งราคาไว้ 100 บาท ส่วนแบ่งที่เราจะได้คือ 70 บาท หักภาษีและค่าตีพิมพ์ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดและความหนา ซึ่ง Amazon KDP จะจ่ายเงินผ่าน Payoneer ดังนั้นก่อนอัปโหลดผลงานเราต้องมีสมัครบัญชีผู้ใช้ของ Payoneer ก่อนด้วย
เรื่องต้องรู้ สู่การสร้างรายได้ผ่าน KDP
- เข้าใจเงื่อนไขและระบบของ Amazon KDP - สำหรับมือใหม่อาจต้องใช้เวลาศึกษาเงื่อนไข และวิธีการสมัครสมาชิกทั้งสมาชิก Amazon และสมัคร Payoneer ซึ่งเป็นช่องทางการรับเงิน นอกจากนี้ยังต้องดูกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ชนิดและขนาดไฟล์ต่างๆ ที่สามารถอัปโหลดได้ ศึกษาเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งขั้นตอนต่างๆ ในเบื้องต้นนี้อาจมีรายละเอียดมาก ขออย่าเพิ่งถอดใจ การศึกษาเงื่อนไขต่างๆ ให้กระจ่างก่อนเริ่มงาน ช่วยป้องกันการผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งอาจทำให้เรายิ่งเสียเวลามากกว่าเดิม
- เลือกโปรแกรมใช้งาน - โปรแกรมออกแบบยุคใหม่มีให้เลือกมากมาย และหลายโปรแกรมก็ใช้ง่าย ไม่ซับซ้อนเหมือนก่อน สำหรับมือใหม่แนะนำให้ลองใช้ Canva ซึ่งเป็นโปรแกรมออกแบบสำเร็จรูป ใช้ Photoshop, Illustrator ไม่เป็น ก็สามารถใช้ Canva ได้ หรือใครมีอุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ของ Apple ก็สามารถใช้แอปพลิเคชัน Keynote ในการออกแบบได้เช่นกัน
- จัดตารางการทำงาน - เอาล่ะ! เมื่อพร้อมแล้ว ก็ได้เวลาทำงาน แต่เพราะงานนี้เราไม่ต้องส่งครู ไม่มีเดดไลน์ ดังนั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่าเราอาจละเลยจนทำงานไม่เสร็จ ว่าแล้วลองจัดตารางการทำงาน วางแผนว่าจะใช้เวลาต่อชิ้นงานนานแค่ไหน เช่น หากกำหนดว่า 1 เดือน ก็ลองใส่รายละเอียดว่า ภายใน 1 เดือนนั้นจะทำอะไรบ้างเพื่อให้ชิ้นงานลุล่วงไปได้ ควรวางแผนใช้เวลาว่างอย่างเหมาะสม ไม่กระทบการเรียนและไม่กดดันตัวเองเกินไป
- มีความละเอียดรอบคอบ - แม้จะเป็นแค่สมุดโน๊ต แต่ก็ต้องใส่ใจรายละเอียดไม่ต่างจากการผลิตหนังสือสักเล่มเช่นกัน ควรตรวจทานผลงานทุกครั้งก่อนอัปโหลด แม้จะมีตัวหนังสือไม่กี่คำ ก็ต้องมั่นใจว่าไม่มีตัวไหนที่สะกดผิด ลวดลายต่างๆ เป็นไปตามที่เราต้องการ ไม่ตกขอบ กลับหัว ฯลฯ ในการอัปโหลดอย่าลืมใส่รายละเอียดผลงาน เช่น ชื่อผลงาน ขนาด จำนวนหน้า รวมทั้งกำหนดคีย์เวิร์ดเพื่อให้ผลงานของเราถูกค้นพบได้ง่าย
ไอเดียออกแบบสมุดบันทึกยังไงให้ปัง
เมื่อพูดคำว่าสมุดโน๊ตหลายคนอาจสงสัยว่า จะออกแบบอะไรในเมื่อสมุดโน๊ตก็เป็นเพียงหน้ากระดาษเปล่าๆ เอาไว้ให้จดบันทึกไม่ใช่หรือ
จริงอยู่ที่สมุดโน๊ตมีไว้ให้จดบันทึก จึงมีพื้นที่ว่างๆ มากกว่าหนังสือทั่วไป กระนั้น เราก็สามารถออกแบบหน้าปก ใส่ไอเดีย หรือออกแบบสมุดโน๊ตเป็นธีมต่างๆ ได้หลากหลาย หากนึกไม่ออก เรามีไอเดียมาฝาก
- สมุดบันทึกเฉพาะกลุ่ม : เป็นการออกแบบสมุดบันทึกที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายชัดเจน เช่น Diary for Teenage Girl, Boy Daily Journal, Teacher’s Diary หรือสมุดบันทึกธีมนักกีฬา นักเต้น สมุดบันทึกสำหรับแฟนคลับกลุ่มต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเราได้ไอเดียแล้ว ก็จะช่วยให้เราออกแบบได้ง่ายขึ้น เช่น สำหรับเด็กผู้ชาย ก็อาจเลือกใช้โทนสีเข้ม สีน้ำเงิน สีเทา สีน้ำตาล สำหรับผู้หญิงอาจใช้โทนหวานแหวว หรือสมุดบันทึกสำหรับนักกีฬา ก็อาจสอดแทรกคำคม แรงบันดาลใจเอาไว้ในแต่ละหน้า เพิ่มความน่าสนใจยิ่งขึ้น
- สมุดบันทึกแบบ Planner : หลายคนน่าจะรู้จัก Planner ซึ่งจะคล้ายกับปฏิทิน แต่มาในรูปแบบสมุดบันทึก ให้เราได้วางแผนกิจกรรมและจดบันทึก To do list ในแต่ละวัน ส่วนใหญ่ Planner จะแบ่งแต่ละหน้าออกเป็นเดือนต่างๆ ในแต่ละเดือนมีช่องให้เขียนข้อความได้ ซึ่งนอกจาก Planner ทั่วไปแล้ว เรายังอาจทำ Planner สำหรับโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น Wedding Planner สำหรับวางแผนการแต่งงาน หรือ Budget Planner สำหรับวางแผนการเงินก็ได้
- สมุดบันทึกแบบ Bujo : Bujo ย่อมาจากคำว่า Bullet Journal เป็นสมุดบันทึกที่ไว้จดไอเดีย รวมรวบความคิดอย่างรวดเร็วในลักษณะเป็นข้อๆ แต่ละข้อไม่ยาวมากนัก ว่ากันว่าช่วยจัดระบบความคิดให้เป็นระบบผ่านหัวข้อต่างๆ การออกแบบ Bujo ทำได้หลากหลาย เช่น เลือกสัญลักษณ์เก๋ๆ ใช้แทนตัว Bullet ออกแบบหน้า Index รวมถึงหัวข้อสำหรับการบันทึก เช่น Daily Ideas, Next week to do list, My Bucket List เป็นต้น
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนที่ชื่นชอบการเขียนไดอารี หรือมีทักษะด้านการออกแบบ อาจเริ่มสนใจหารายได้จากการออกแบบสมุดบันทึกเพื่อจำหน่ายผ่าน Amazon KDP กันบ้างแล้ว สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นอาจต้องใช้เวลากว่าจะมีรายได้เข้ามา แต่ถ้าไม่ถอดใจ หมั่นพัฒนาฝีมือ ศึกษาเรื่องคีย์เวิร์ดที่เหมาะสม สักวันย่อมสร้างรายได้ได้อย่างแน่นอน
แหล่งอ้างอิง (Sources):
Related Courses
ก้าวแรกก่อนเป็นผู้ประกอบการ
ก้าวแรกก่อนเป็นผู้ประกอบการ สร้างอาชีพเสริมจากสิ่งจากที่ชอบ วิธีการสร้าง concept ของแบรนด์ให้น่าสนใจ รวมไปถึงช่องทาง ...
ฝึกทักษะพื้นฐานในการตัดสินใจ (Decision Making)
การตัดสินใจที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ถ้าหากได้รับการฝึกฝนทักษะการตัดสินใจตั้งแต่วัยรุ่น ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิ ...
ทำสิ่งที่ชอบ สร้างอาชีพที่ใช่
เชื่อว่าหลายๆ คนอยากสร้างอาชีพจากสิ่งที่ชอบและถนัด และนำสิ่งที่เรียนมาต่อยอดเป็นอาชีพที่ใช่สำหรับตัวเอง แต่ปัญหาของแต่ละคนอยู่ ...
ไอเดียออกแบบ และจัดงานเลี้ยงอย่างมืออาชีพ
สร้างสรรค์ไอเดียการออกแบบงานเลี้ยงอย่างมืออาชีพ ด้วยการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงทั้งในชีวิตการทำงานแล ...
ไอเดียออกแบบ และจัดงานเลี้ยงอย่างมืออาชีพ
ต้องใช้ 100 เหรียญ