5 EdTech ที่จะเปลี่ยนห้องเรียนในอนาคต

1 ปีที่แล้ว
2624 views
โดย Starfish Labz
5 EdTech ที่จะเปลี่ยนห้องเรียนในอนาคต

ภาพน่าตื่นตาตื่นใจอย่างในนิยายวิทยาศาสตร์ หรือภาพยนตร์ไซไฟแฟนตาซี ที่เราเคยได้แต่นึกจินตนาการ ค่อยๆ ปรากฏให้เห็นกันเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวันไปแล้ว ยิ่งหลังเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ผู้ใหญ่หลายๆ คนจำต้องเร่งเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ทันเด็กๆ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างไม่หยุดชะงัก โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษา คุณครูต่างต้องตื่นตัวลุกขึ้นมาหาทางออกว่าเราจะสอนเด็กๆ อย่างไรหากไม่สามารถมาโรงเรียนได้ จนเกิดการปรับตัวไปเรียนออนไลน์แทบจะ 100% และเด็กๆ เพิ่งได้กลับเข้าเรียนออนไซต์ตามปกติได้ไม่นานมานี้เอง ซึ่งคงต้องสลับไปมาเช่นนี้ต่อไปแบบ Hybrid Learning 

(คุณอาจสนใจบทความ EdTech เรื่อง 18 รูปแบบการเรียนรู้ด้วย Edtech ที่น่าจับตามองในปี 2022 คลิกอ่านเพิ่มเติมต่อได้ที่ bit.ly/37LKynY )

หากย้อนไปไม่ถึง 100 ปีก่อน ใครจะไปนึกว่าวิวัฒนาการของโทรศัพท์จะก้าวกระโดดมาไกล ในขณะนี้เราต่างอยู่ในยุคทองของมือถือสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต อุปกรณ์สื่อสารขนาดพกพาที่เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้เราแทบทุกอย่าง เราเซย์ฮัลโหล Google สวัสดี SIRI เพื่อสอบถามเส้นทางหรือสั่งซื้อสินค้า แชตคุยกับ Bot ไม่ต่างจากที่ Iron Man คุยกับ JARVIS เพื่อกอบกู้โลกแบบในหนังซุปเปอร์ฮีโร่ ซึ่งระบบปฏิบัติการเหล่านี้ช่วยเราปฏิสัมพันธ์กับคนทั่วโลก เรียนรู้สิ่งใหม่ สร้างสรรค์ผลงาน เสพย์ข่าวสาร และสื่อบันเทิงได้อย่างครบครัน

ในขณะที่เราหลับ เหล่า AI ก็ไม่เคยได้หยุดพัก พวกมันเรียนรู้ภาษา คำสั่ง และการสื่อสารจากผู้คน จนมันเริ่มแปลภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยได้ดีขึ้น เขียนบันทึก บทความ บทกวี หรือแม้แต่แต่งเพลงง่ายๆ ได้เองเป็นภาษาอังกฤษ

Starfish Labz จะขอชวนคุณลองคาดการณ์ว่าหน้าตาห้องเรียนจะล้ำขึ้นได้อย่างไรบ้าง จาก 5 เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่น่าจะช่วยสนับสนุนด้านการศึกษา กระตุ้นให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

1. สร้างบรรยากาศให้เหมือนไม่ได้อยู่ในโรงเรียน

โรงเรียนในอนาคตอาจเปลี่ยนไปมีหน้าตาเหมือนเราวาปไปที่ไหนก็ได้ในโลก มีพื้นที่จำลอง โรงอาหารอาจเหมือนคาเฟ่เก๋ๆ ที่มานั่งทำงานกลุ่มได้ หรือห้องพยาบาลก็อาจไม่ต่างจากฮอสพิเทลหรู การตกแต่งและสถาปัตยกรรมจะต้องสร้างความรู้สึกโปร่งโล่ง อากาศถ่ายเท สวยงามสบายตา เพิ่มสุนทรีย์ในการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนมีโฟกัสกับบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น 

ห้องเรียนโอ่โถง มีพื้นที่เคลื่อนไหวร่างกายในแต่ละกิจกรรม มีระยะห่างไม่แออัด ครูเลือกออกแบบห้องเรียนและจัดสรรพื้นที่ให้เด็กๆ บูรณาการการเรียนรู้ได้ อุปกรณ์และเครื่องมือจัดกิจกรรมเคลื่อนที่และจัดเก็บได้ง่าย ไม่กินพื้นที่ใช้สอย สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสมกับวิชาและพัฒนาการตามช่วงวัยได้ 

มีแผงควบคุมแสงกระตุ้นการเรียนรู้ เพราะแสงมีผลต่อร่างกายของมนุษย์ตามหลักการของนาฬิกาชีวภาพในตัวเรา หากสามารถตั้งเวลาเปิดปิดม่านรับแสงอาทิตย์ หรือตั้งค่าปรับระดับแสงไฟภายในอาคารให้มีความสว่างที่เหมาะสมกับแต่ละกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละห้อง เราสามารถตั้งค่ากำหนดโทนสี และความสว่างที่จะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ภายในโซนนั้นๆ ได้

2. สร้างชั้นเรียนไฮบริดที่เพิ่มการมีส่วนร่วมแบบแอคทีฟ

แม้จะมาเรียนออนไซต์ เด็กๆ สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ของตนเองเข้ากับอุปกรณ์กลางผ่านระบบออนไลน์ เพื่อที่ทุกคนจะมีส่วนร่วมใช้งานแอปฯ หรือโปรแกรมในชั้นเรียนได้ไปพร้อมๆ กัน 

หน้าชั้นเรียนเปลี่ยนจากกระดานดำ เป็นหน้าจอกว้างๆ ทดแทน มีขนาดใหญ่ คมชัด และความละเอียดสูง ไม่มีฝุ่นชอล์กหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ของปากกาเคมีรบกวนการเรียน

คุณครูและเด็กๆ สามารถสัมผัสหน้าจอได้ เขียนหรือพิมพ์ลงไปได้ มีปฏิสัมพันธ์กับสื่อการเรียนรู้ได้ทันทีทันใดเหมือนในพิพิธภัณฑ์ไฮเทค เพื่อร่วมกันระดมสมอง แสดงความคิดเห็น และทิ้งคำถามโชว์ขึ้นกระดานเดียวกันแบบออนไลน์ ให้ทุกคนในชั้นเรียนได้เรียนรู้และขบคิดไปพร้อมกัน

3. สร้างสรรค์ประสบการณ์และคำนึงถึงสุขภาวะของผู้เรียนเป็นสำคัญ

ทุกๆ เช้าครูประจำชั้นจะต้องจัดกิจกรรมช่วยประเมินสภาพร่างกายและจิตใจของเด็กๆ ว่าเป็นอย่างไร และสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาแอคทีฟ พร้อมจะเรียนรู้ หากเด็กคนไหนไม่พร้อมก็ไม่ต้องฝืน อาจสลับให้ไปเข้ากิจกรรมบำบัดที่เน้นการปฏิบัติ ส่งเสริมพัฒนาการหรือทักษะที่เด็กสนใจเป็นพิเศษแทน 

4. สร้างสื่อการสอนดิจิทัล

ครูจะต้องพัฒนาตนเองให้สามารถผลิตสื่อการสอนดิจิทัลที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น อาจสร้างโจทย์เป็น Gamification เกมจำลองสถานกาณ์เพื่อการเรียนรู้ หรือเพิ่มความสนุกโดยร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าจำง่าย เน้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ จากการทำกิจกรรม ได้คิดวิเคราะห์ ทดลอง และสะท้อนคิดมากกว่าการท่องจำ ทำให้เด็กๆ อยากเรียนรู้บทเรียนต่อๆ ไปแทบแย่เหมือนที่เราติดซีรี่ย์งอมแงมให้ได้ จนต้องบอกว่าวันนี้ให้พอแค่นี้ก่อน

5. สร้างจุดบรรจบกับโลกนอกห้องเรียน

เพิ่มการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชนกับโรงเรียน ต่างฝ่ายต่างให้ฟีดแบ็กกันได้ นักเรียนและผู้ปกครองสามารถประเมินการสอนของครู และนโยบายของโรงเรียนได้ ครูคอยติดตามและรายงานผลพัฒนาการของเด็กๆ ในชั้นเรียนให้ผู้ปกครองเห็นความพร้อมในห้องเรียนของลูกได้เป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ไม่ต้องรอเกรดออกก็เปลี่ยนกลยุทธ์การเรียนรู้ของลูกใหม่ได้ระหว่างปีการศึกษา 

ผู้ปกครองและครูจะได้แลกเปลี่ยนมุมมองให้ทำความเข้าใจในตัวเด็กคนหนึ่งมากขึ้น และมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลให้ลูกหลานได้รับความรู้ครบถ้วน เสริมส่วนที่ยังขาดต่อได้เองที่บ้าน ลูกมีกำลังใจดี มีทางออกที่จะแแก้ปัญหาการเรียนรู้ถดถอยไม่ทันเพื่อนได้ทันท่วงที 

สามารถเตรียมความพร้อมทางร่างกายและจิตใจของลูกได้ดีขึ้นในวันถัดไป หากคุณครูท่านใดอยากมาก่อนกาล ก็สามารถติดตั้งผลิตภัณฑ์ Starfish Class ของเรา เพื่อเริ่มติดตามและประเมินสมรรถนะผู้เรียนได้ตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ต้องรออนาคต ใช้งานได้ฟรีทั้งบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน 

(หากคุณสนใจ Starfish Class คลิกอ่านและรับชมวิธีการใช้งานเพิ่มเติมต่อได้ที่ bit.ly/3v7LIDf)

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ทุกคนพอจะนึกภาพตาม และเห็นความเป็นไปได้แค่ไหนกับห้องเรียนในฝันที่ล้ำอนาคตแบบที่ Starfish Labz ค้นคว้ามาเล่า ว่าไหมว่ายิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้า ก็ยิ่งช่วยให้คุณครูและคุณพ่อคุณแม่พาเด็กๆ ออกตามหาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ และค้นพบความชอบของตนเองได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อที่เด็กๆ จะมีหมุดหมายในใจ เห็นความสำคัญว่าทำไมเขาต้องตั้งใจเรียน และพัฒนาตนเองให้มีทักษะมากพอจะไปต่อในเส้นทางที่พวกเขาอยากเฉิดฉายในอนาคตนั่นเอง

แหล่งอ้างอิง: 

Share:

มาร่วมเรียนรู้กับ Starfish Labz

แหล่งเรียนรู้และชุมชนออนไลน์เพื่อนักการศึกษาและผู้ปกครอง

ลงทะเบียน

ข่าวที่เปิดอ่านมากที่สุด

ศธ. มุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษา เตรียมเสนอ "พิธีไหว้ครู" ขึ้นทะเบียนมรดกโลก

02.04.24

การศึกษายุคใหม่ เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ตอบโจทย์นโยบาย “เรียนดี มีความสุข”

14.03.24

มหกรรมวิชาการเครือข่ายโรงเรียนที่ ๕๙-๖๐ โชว์ผลงาน Makerspace กระตุ้นนักเรียนคิดสร้างสรรค์

14.03.24

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education เข้ารับรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ

02.04.24

Starfish Education มุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน จัดกิจกรรม Focus Group หัวข้อ "องค์ประกอบ 9 ด้าน ในการบริหารจัดการโรงเรียน" และ Workshop การประเมินทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21

02.04.24

Starfish Education ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนทั้งระบบ พัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน

14.03.24