ผลสอบ PISA 2022 คะแนนร่วงเกือบทั้งโลกไทยหนักคะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี

4 เดือนที่แล้ว
1311 views
โดย Starfish Labz
ผลสอบ PISA 2022 คะแนนร่วงเกือบทั้งโลกไทยหนักคะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี

เปิดผล PISA 2022 หลังฝ่าวิกฤตโควิด 19 ระบบการศึกษาทั่วโลกคะแนนเฉลี่ยลด สสวท. ชี้เร่งพัฒนาสมรรถนะครูจัดการเรียนรู้สร้างทักษะที่จำเป็นตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาเผยหากผล PISA ปี 2025 ไม่ดีขึ้นพร้อมทบทวนตัวเอง

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการแถลงข่าวผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ปี 2022 โดยนายสุรศักดิ์ กล่าวว่า การประเมินดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี โดยได้ทำการประเมินทุก 3 ปีใน 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ การประเมินนักเรียนจะวัดทั้ง 3 ด้านดังกล่าวไปพร้อมกันแต่จะเน้นหนักที่ด้านใดด้านหนึ่งในแต่ละรอบการประเมิน

รมช.ศธ.กล่าวอีกว่าในปี 2022 มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 690,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 29 ล้านคน จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ สำหรับในประเทศไทย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติ (National Center) ได้ดำเนินการจัดสอบเมื่อเดือนส.ค.2565 มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการประเมินจาก 279 โรงเรียน ในทุกสังกัดการศึกษา รวม 8,495 คน 

จาก 81 ประเทศ พบว่ามีเพียง 18 ประเทศ/เขตพื้นที่เท่านั้นที่มีคะแนนทั้ง 3 ด้านสูงเกินมาตรฐานขณะที่ประเทศไทยนั้นคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทุกทักษะรวมถึงคะแนนยังต่ำที่สุดในรอบ 20 ปีด้วย

  • โดยวิชาคณิตศาสตร์ อันดับที่ 1 คือ สิงคโปร์ ได้คะแนนสูงถึง 575 คะแนน ตามด้วยมาเก๊า (552 คะแนน) ไต้หวัน (547 คะแนน) ฮ่องกง (540 คะแนน) และญี่ปุ่น (536 คะแนน) ส่วนประเทศไทย ได้ 394 คะแนน ลดลงจากการสอบครั้งก่อน 25 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 58
  • ส่วนวิชาการอ่าน อันดับที่ 1 ยังคงเป็น สิงคโปร์ (543 คะแนน) รองลงมาคือ ไอร์แลนด์ (516 คะแนน) ญี่ปุ่น (516 คะแนน) เกาหลีใต้ (515 คะแนน) และไต้หวัน (515 คะแนน) ในวิชานี้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 64 เท่านั้น ด้วยคะแนน 379 คะแนน ลดลง 14 คะแนน
  • และวิชาวิทยาศาสตร์ อันดับที่ 1 ยังหนีไม่พ้น สิงคโปร์ (561 คะแนน) ตามมาด้วย ญี่ปุ่น (547 คะแนน) มาเก๊า (543 คะแนน) ไต้หวัน (537 คะแนน) และเกาหลีใต้ (528 คะแนน) ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 58 ได้ 409 คะแนน ลดลง 17 คะแนน

ในทั้ง 3 วิชา พบว่าประเทศไทยเป็นรอง สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไนและมาเลเซียทั้งหมดนอกจากนี้เมื่อย้อนดูคะแนนของประเทศไทยก่อนหน้านี้ ก็พบว่านี่เป็นคะแนนที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปีของประเทศไทยโดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งเดิมทีไทยอยู่ในระดับสูงกว่า 400 คะแนนมาตลอดก็เป็นครั้งแรกที่ตกลงมาอยู่ในหลัก 300

นายสุรศักดิ์ กล่าวค่อไปว่าส่วนผลการประเมินของประเทศไทย พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และด้านการอ่าน 379 คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า คะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยทั้งสามด้านลดลงโดยด้านคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 25 คะแนน ส่วนด้านวิทยาศาสตร์และการอ่าน มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 17 คะแนน และ 14 คะแนน ตามลำดับ ทั้งนี้ ผลการประเมินของประเทศไทยตั้งแต่ PISA 2000 จนถึง PISA 2022 พบว่าคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และการอ่านมีแนวโน้มลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงทางสถิติ ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์ตามสังกัดการศึกษาและกลุ่มโรงเรียนที่เข้าร่วมการประเมินครั้งนี้ พบว่ากลุ่มโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยทั้งสามด้านอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนคณิตศาสตร์สูงสุดห้าอันดับแรกส่วนกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD สำหรับกลุ่มโรงเรียนอื่น ๆ ยังคงมีคะแนนเฉลี่ยทั้งสามด้านต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD

เมื่อเทียบผลคะแนน เด็กไทยคะแนนทักษะทั้ง 3 ด้าน ลดลงต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี

- คณิตศาสตร์ : คะแนนลดลง 6% อันดับ 58 จาก 81 ประเทศ

- การอ่าน : คะแนนลดลง 4% อันดับ 64 จาก 81 ประเทศ

- วิทยาศาสตร์ : คะแนนลดลง 4% อันดับ 58 จาก 81 ประเทศ

แม้ว่าเด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ขาดทักษะปัญหาของการศึกษาไทยไม่ใช่เด็กไทยไม่ "ขยัน" แต่เป็นเพราะระบบการศึกษา ถึงเวลาจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่มาแทนที่หลักสูตรปัจจุบันที่ไม่ได้ปรับปรุงขนานใหญ่มาหลายปี ต้องปรับวิธีการสอน อย่างภาษาอังกฤษ ต้องเน้นการสื่อสาร ประวัติศาสตร์ต้องเน้นวิเคราะห์ ถกเถียง แลกเปลี่ยน ถึงเวลาต้องปรับวิธีสอน ลดการบ้าน ลดชั่วโมงเรียน ให้นักเรียนมีเวลาได้เรียนรู้นอกห้องเรียน ลดความเครียด ลดวิชาบังคับเพิ่มวิชาเลือกตามความถนัดความชอบ

“สำหรับระบบการศึกษาไทยยังมีช่องว่างของคะแนนระหว่างนักเรียนกลุ่มสูงกับนักเรียนกลุ่มต่ำที่กว้างมากแม้ในด้านคณิตศาสตร์จะมีช่องว่างดังกล่าวที่แคบลงแต่เป็นผลมาจากนักเรียนกลุ่มสูงมีการลดลงของคะแนนที่มากกว่านักเรียนกลุ่มต่ำ ซึ่งเรื่องนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ได้แสดงความเป็นห่วงและกำชับให้ ศธ.เร่งยกระดับในเรื่องดังกล่าวโดยล่าสุด ศธ.ได้ตั้งคณะทำงานจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาและกำหนดมาตรการในการแก้ไขจุดบกพร่องในเรื่องดังกล่าวแล้วโดยจะต้องมีมาตรการในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ทั้งการพัฒนาครูให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นในการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้กับสถานศึกษาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในการจัดการเรียนรู้รวมทั้งพัฒนาสถานศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพและครอบคลุมทุกสังกัด

ด้าน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่าซึ่งจากผลการประเมินก็แสดงให้เห็นแล้วว่าประเทศไทยมีผลคะแนนที่ต่ำลงโดยเราคงปฎิเสธไม่ได้และต้องยอมรับผลคะแนนดังกล่าวตามความเป็นจริงแต่หากดูภาพรวมแล้วก็คงไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวที่มีผลประเมินต่ำลง แต่ภาพรวมเกิดขึ้นกับทุกประเทศเมื่อเทียบกับผลประเมินเมื่อปี 2018 ซึ่งเป็นผลกระทบของทุกประเทศที่ต้องเผชิญกับความท้ายทายในการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้จากผลการประเมินของนักเรียนไทยดังกล่าวทำให้ศธ.ต้องวางแนวทางแก้ปัญหาโดยจะตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาผลประเมินพิซาของนักเรียนไทยซึ่งจะมีสภาการศึกษาช่วยขับเคลื่อนวางทิศทางการแก้ไขปัญหาพร้อมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมแก้ปัญหาด้วย

 “ต้องยอมรับว่าการศึกษาต้องใช้เวลาและต้องเริ่มต้นจากการศึกษาระดับปฐมวัยไปโดยจากนี้ไปเราจะต้องปรับทิศทางการจัดการเรียนการสอนมุ่งสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น และส่งเสริมเรื่องการอ่านเพราะนการสอบพิซาจะเน้นขอสอบที่คิดวิเคราะห์ ดังนั้นจากนี้ไปจะต้องมุ่งเน้นการคิดอ่านแบบคิดวิเคราะห์ของนักเรียนให้มากขึ้น ทั้งนี้ผมขอให้เชื่อการทำงานภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลหน่วยงานของศธ.จะทำงานแก้ปัญหาให้รวดเร็วและสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ตนคาดว่าการประเมินพิซาในปี 2025 จะดีขึ้นอย่างแน่นอน และหากเมื่อวางแนวทางการแก้ไขปัญหาแล้วผลคะแนนพิซาในรอบถัดไปยังไม่ดีขึ้นผมขอรับผิดชอบในการพิจารณาตัวเอง” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

ที่มา : 

https://pisathailand.ipst.ac.th/news-21/

https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/211936

moe360.blog/2023/12/07/pisa-2022/

Share:

มาร่วมเรียนรู้กับ Starfish Labz

แหล่งเรียนรู้และชุมชนออนไลน์เพื่อนักการศึกษาและผู้ปกครอง

ลงทะเบียน

ข่าวที่เปิดอ่านมากที่สุด