นิทานไม่ใช่แค่เรื่องเล่าสอนใจแต่ยังส่งผลต่อพัฒนาการที่ดีของลูก
เมื่อต้องเล่านิทานให้ลูกฟัง สิ่งสำคัญไม่แพ้การเลือกหนังสือ คือการทำความเข้าใจเนื้อหาของนิทานนั้น ๆ ก่อนจะถ่ายทอดให้ลูกฟัง เพราะนอกจากนิทานจะทำหน้าที่ให้คติสอนใจเด็ก ๆ แล้ว ยังมีส่วนช่วยเรื่องพัฒนาการที่ดีของพวกเขาอีกด้วย วันนี้เราเลยอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มารู้จักนิทานให้มากขึ้นผ่านบทความนี้กัน
นิทานกับวรรณกรรมแตกต่างกันอย่างไร ?
ก่อนอื่น เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจก่อนว่านิทานกับวรรณกรรมสำหรับเด็กนั้นไม่ได้เหมือนกันซะทีเดียว เพราะนิทาน คือ เรื่องที่จบในตอน มีภาพประกอบ และแต่ละเรื่องไม่ควรยาวเกินไป นิทานที่ดีควรจะสั้นเพราะทำมาให้เด็กอ่าน ซึ่งเด็กบางคนมีศักยภาพจดจ่อเพียงแค่ 5 – 10 นาทีเท่านั้น ส่วนวรรณกรรมจะเป็นเรื่องเล่าที่ยาว เล่าอะไรที่ซับซ้อนมากขึ้นนั่นเอง ดังนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่จะเลือกหนังสือมาให้ลูกอ่านหรืออ่านให้ลูกฟัง อาจจะต้องดูพัฒนาการของเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการอ่าน การคิด หรือทำความเข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนของพวกเขา
ขอบคุณภาพจาก Hans Braxmeier
สำหรับหนังสือนิทาน เด็กแต่ละช่วงวัยก็จะเหมาะกับนิทานที่แตกต่างกันออกไป อย่างเด็กที่ยังไม่เข้าโรงเรียนก็จะเป็นหนังสือเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันทั่วไป เช่น การแปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว อยู่กับเพื่อน กินข้าว หรืออาหารเพราะอยากให้เด็กกินผักตั้งแต่เล็ก ๆ พอพวกเขาเริ่มเข้าโรงเรียนแล้วก็จะเริ่มเป็นเรื่องของเพื่อน เพราะเด็กต้องไปเจอเพื่อนที่โรงเรียน เนื้อหาจะเปลี่ยนไปและความยาวก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย พอเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยประถมปลายก็จะเป็นเรื่องการผจญภัย สัตว์ ความมหัศจรรย์ต่าง ๆ เพราะเด็กเริ่มมีความสนใจอื่นนอกจากเรื่องเพื่อนแล้ว ดังนั้นถ้าพ่อแม่อยากจะอ่านนิทานเพื่อช่วยในเรื่องพัฒนาการของลูก จึงควรเริ่มตั้งแต่การเลือกนิทานให้เหมาะกับช่วงวัยของลูกด้วย