พ่อแม่ยุคใหม่ควรเป็นเพื่อนลูกในโลกโซเชียลหรือเปล่า?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลี้ยงลูกทุกวันนี้ มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนแม้ว่าเทคโนโลยีต่างๆจะช่วยให้พ่อแม่หาข้อมูล คำแนะนำในการเลี้ยงลูกได้ง่ายขึ้นแต่ขณะเดียวกันเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นเทคโนโลยีเหล่านั้น ก็เป็นเหมือนดาบสองคมที่ช่วยให้การเรียนรู้ของลูกไม่มีขีดจำกัด แต่อีกด้านหนึ่งก็เพิ่มโอกาสที่เด็กๆ จะได้รับข้อมูลที่ไม่เหมาะสมก่อนวัยอันควร หรือตกเป็นเหยื่อจากผู้ไม่หวังดีได้ง่ายขึ้นการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์ม ที่มีข้อดีคือทำให้คนเราใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ชวนให้ตั้งคำถามว่าโลกเสมือนออนไลน์นี้เหมาะกับเด็กและวัยรุ่นจริงหรือ
แต่ครั้นจะห้ามบุตรหลานโดยเฉพาะวัยรุ่น ก็อาจเหมือนกับว่าพ่อแม่ทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลอง ขัดขวางยุคสมัยในเมื่อใครๆก็ใช้กัน เมื่อเป็นเช่นนี้บทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครองจึงอาจไม่ได้มีแค่การดูแลให้คำแนะนำบุตรหลานในชีวิตจริงเท่านั้น แต่ยังอาจต้องเป็นโค้ชให้คำแนะนำการใช้โซเชียลมีเดียอย่างเหมาะสมด้วย ปัญหาก็คือบางครั้งวัยรุ่นอาจรู้สึกว่าพ่อแม่กำลังก้าวก่ายโลกส่วนตัวของเขา เมื่อพ่อแม่ขอเป็นเพื่อนหรือกดติดตามเด็กๆในโซเชียลมีเดีย บทความนี้ StrafishLabz ชวนพ่อแม่มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันว่าบทบาทหน้าที่พ่อแม่ควรอยู่ตรงไหนในโซเชียลมีเดียของลูก
เข้าใจความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ในโลกโซเชียล โทรศัพท์มือถือ และโซเชียลมีเดียได้เปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ในวัยรุ่นเมื่อการเชื่อมต่อถึงกันเป็นเรื่องง่ายกว่าที่เคยในแง่หนึ่ง การติดต่อกับเพื่อนและครอบครัวเป็นสิ่งที่ดี แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจเป็นเรื่องท้าทายที่จะสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างวัยรุ่นเมื่อมีโซเชียลมีเดียเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะเมื่อโซเชียลมีเดียเปิดโอกาสให้ผู้คนเชื่อมโยงถึงกันได้ง่ายขึ้น นั่นหมายความว่าวัยรุ่นมีโอกาสที่จะพูดคุยกับคนแปลกหน้า คนที่ไม่เคยรู้จักในชีวิตจริง ซึ่งผู้คนเหล่านั้นย่อมมีทั้งดีและไม่ดี หากโชคร้ายเจอคนไม่ปรารถนาดี การใช้โซเชียลมีเดียก็อาจนำปัญหามาให้ นอกจากนี้ความสัมพันธ์บนโลกโซเชียล ยังไม่สามารถให้ปฏิสัมพันธ์ในระดับเดียวกับชีวิตจริงได้ เพราะไม่สามารถสัมผัสหรือมองเห็นสีหน้าท่าทาง ได้ยินน้ำเสียง ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดในการสื่อสาร นำไปสู่ความเข้าใจผิด การทำความรู้จักกับใครสักคนบนโลกโซเชียล ย่อมแตกต่างจากการได้รู้จักกันในชีวิตจริงเมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองเปิดโอกาสให้วัยรุ่นใช้โซเชียลมีเดีย จึงควรเข้าใจปัญหาความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์หากวัยรุ่นใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์มีปัญหาในการสร้างความสัมพันธ์ในชีวิตจริง และกลายเป็นคนโดดเดี่ยวและเก็บตัวมากขึ้น
พ่อแม่เป็นเพื่อนลูกบนโลกโซเชียลได้ไหม เมื่อความสัมพันธ์บนโลกโซเชียลอาจเป็นดาบสองคมย่อมทำให้คนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองอดเป็นห่วงบุตรหลานไม่ได้เพราะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแม้จะดูเหมือนเป็นพื้นที่ส่วนตัว เลือกกลุ่มที่ต้องการให้เข้าถึงโพสต์ต่างๆ ได้ แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าแต่ละเรื่องราว แต่ละรูปที่โพสต์ลงไป จะไม่ถูกบันทึกไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจำนวนเพื่อนหรือผู้ติดตามในบัญชีผู้ใช้ของลูกจะไม่มีผู้ประสงค์ร้ายแอบแฝงอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ พ่อแม่หลายคนอาจต้องการขอเป็นเพื่อนลูกในโลกโซเชียล แต่สำหรับเด็กๆเอง อาจรู้สึกอึดอัด ไม่เป็นตัวของตัวเอง เมื่อมีพ่อแม่เป็นเพื่อนออนไลน์ เพราะการที่มีพ่อแม่อยู่ในโซเชียลมีเดียย่อมไม่ต่างจากการนัดเที่ยวกับเพื่อน แล้วมีพ่อแม่ไปด้วยคำถามที่ว่าพ่อแม่เป็นเพื่อนกับลูกได้ไหมจึงอาจต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน ตั้งแต่พื้นฐานความสัมพันธ์ในครอบครัว อายุของลูก ประวัติการคบเพื่อน ฯลฯ โดยทั่วไปแล้วครอบครัวที่พ่อแม่ใช้เวลามีสายสัมพันธ์อันดีกับลูก มักไม่ค่อยมีปัญหาหากต้องการเป็นเพื่อนลูกบนโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ได้เป็นเพื่อนกับลูกบนแพลตฟอร์มออนไลน์สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ
- ทั้งพ่อแม่และวัยรุ่นควรเห็นตรงกันว่าโซเชียลมีเดีย เป็นพื้นที่ให้ครอบครัวได้เชื่อมต่อกัน
- พ่อแม่และวัยรุ่นเห็นตรงกันว่า ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ปกครองมีสิทธิ์ที่จะรู้ว่าลูก ๆ กำลังทำอะไร กำลังจะไปไหน ซึ่งโซเชียลมีเดีย ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่ได้อัปเดตชีวิตของลูก
- พ่อแม่เข้าใจว่าพื้นที่บนโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มต่างๆ เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่ลูกใช้แสดงตัวตนจึงควรเคารพความเป็นส่วนตัวไม่วิพากษ์ วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นที่อาจทำให้ลูกรู้สึกอับอาย อึดอัดไม่สบายใจบนโซเชียลมีเดีย แต่หากมีเรื่องที่อยากแนะนำตักเตือน ควรใช้การสื่อสารต่อหน้าแทนการโพสต์บนพื้นที่ของลูก
- พ่อแม่ใช้การสื่อสารและการโพสต์บนโซเชียลมีเดียของลูก เพื่อเรียนรู้ตัวตนและเข้าใจทัศนคติของลูก
Do & Don’t เมื่อเป็นเพื่อนลูกบนโลกออนไลน์ การที่ลูกหลานวัยรุ่น กดรับเป็นเพื่อน หรืออนุญาตให้พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถติดตามพวกเขาบนโซเชียลมีเดีย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ผู้ปกครองจะสามารถติดตามดูแล และเข้าใจมุมมองทัศนคติของวัยรุ่นได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อได้เป็นเพื่อนกับลูกหลานในโซเชียลมีเดียแล้ว มีสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ ดังนี้
Do:
- กำหนดขอบเขตให้ชัด: หากเป็นไปได้ควรพูดคุยกับลูกตั้งแต่แรกก่อนที่ลูกจะเปิดบัญชีโซเชียลมีเดีย ว่าขอบเขตที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน สิ่งใดทำได้ ทำไม่ได้ เช่น ห้ามบอกข้อมูลส่วนตัว ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์บนโลกออนไลน์ ไม่ควรโพสต์ภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น ภาพเซ็กซี่เกินไป ภาพทำท่าทางล้อเลียน คลิปใช้คำพูดไม่สุภาพ ฯลฯ สอนลูกเรื่อง Digital Footprint ว่าสิ่งใดที่ถูกนำเข้าสู่โลกออนไลน์แล้วจะคงอยู่ตลอดไป แม้เราจะลบไปแล้ว ก็อาจมีคนที่แอบบันทึกไว้ และสร้างปัญหาให้กับเราภายหลังได้
- เคารพความเป็นส่วนตัวของลูก ว่ากันว่าโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook, IG หรือ Tiktok คือสถานที่แฮงค์เอ้าท์ของเด็กยุคใหม่ แทนการไปเที่ยวห้าง นัดเจอกันที่สยาม วัยรุ่นยังใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ในการแสดงตัวตนเพื่อแสวงหาการยอมรับจากเพื่อน เพราะฉะนั้น พ่อแม่ควรเคารพพื้นที่ส่วนตัวของลูกบนโลกออนไลน์
- ตักเตือนออฟไลน์: หากพบว่าลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในโซเชียลมีเดีย เช่น แสดงความคิดเห็นด้วยคำพูดรุนแรง ทะเลาะกับคนแปลกหน้าบนโซเชียลมีเดีย หรือโพสต์ภาพหรือเรื่องราวที่ไม่เหมาะสมแทนการคอมเมนต์เตือนออนไลน์ ควรพูดคุยกับลูกต่อหน้า ถามถึงเหตุผลและให้คำแนะนำโดยไม่ตัดสิน หลีกเลี่ยงการคอมเม้นต์หรือโพสต์เตือนออนไลน์ เพราะอาจทำให้ลูกรู้สึกเสียหน้าและอับอายซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของวัยรุ่น
- เป็นตัวอย่างที่ดี: เมื่อเป็นเพื่อนกันบนโลกออนไลน์ ไม่เพียงพ่อแม่เห็นโพสต์ของลูก แต่ลูกก็เห็นโพสต์ของพ่อแม่ด้วย ฉะนั้นควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้โซเชียลมีเดียหากไม่อยากให้ลูกหมกมุ่นในโลกออนไลน์ ตนเองก็ไม่ควรอัปเดตชีวิตแบบรายชั่วโมง หรือพิมพ์ทุกความรู้สึกลงไป ไม่แชร์ข่าวเท็จ หรือแชร์โพสต์ที่ไม่เหมาะสม อย่าลืมว่าลูกๆ ก็จับตาดูคุณอยู่เช่นกัน
Don’t:
- ไม่ทำตัวเป็น FC: อย่าระดมกดไลค์และตามคอมเมนต์ทุกการอัปเดตของลูกบนโซเชียลมีเดียควรซุ่มดูอยู่เงียบๆ ดีกว่า
- ไม่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสื่อสาร: อย่าพูดคุย บอกเรื่องราวต่างๆ กับลูกบนโลกออนไลน์ หากเรื่องต่างๆ นั้นสามารถบอกกล่าวพูดคุยกันได้ในชีวิตจริง
- ไม่แสดงความเป็นส่วนตัว: อย่าพูดถึงเรื่องส่วนตัวกับลูกผ่านโซเชียลมีเดีย หรือพูดถึงเรื่องที่อาจทำให้ลูกรู้สึกอับอาย แม้กระทั่งการบอกรักผ่านโซเชียลมีเดีย ก็อาจทำให้ลูกถูกเพื่อนล้อได้ หากรักลูก บอกกับเขาต่อหน้าดีกว่า
- ไม่ทำตัวเป็นเพื่อนลูก: ในโลกออฟไลน์ พ่อแม่ที่สนิทสนมเป็นเพื่อนกับลูกได้ ย่อมเป็นเรื่องดีแต่สำหรับสังคมออนไลน์แล้ว การที่พ่อแม่วางตัวเป็นเพื่อนลูกมากเกินไป ด้วยการขอ Add Friend เพื่อนของลูก ทำตัวเนียนๆ ตีสนิทกลุ่มเพื่อนของลูก หรือใช้ภาษาวัยรุ่นในการคอมเมนต์ อาจทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดมากกว่าผ่อนคลาย
สุดท้ายแล้วไม่ว่าลูกจะยอมรับให้คุณเป็นเพื่อนบนโซเชียลมีเดียหรือไม่ ก็อาจไม่สำคัญเท่าการมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในชีวิตจริงเพราะบนโซเชียลมีเดีย แม้ลูกจะรับเป็นเพื่อน ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกจะเปิดให้คุณเห็นทุกโพสต์พวกเขาอาจตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไม่ให้พ่อแม่เห็นบางโพสต์ หรือแอบสมัครอีกบัญชีผู้ใช้หนึ่งโดยไม่ให้พ่อแม่รู้ก็ยังได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น พ่อแม่ก็คงไม่สามารถตามดูแลลูกบนโลกโซเชียลที่ซับซ้อนได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น คงมีเพียงภูมิคุ้มกันทางใจอันมาจากสายสัมพันธ์อันดีในชีวิตจริงเท่านั้น ที่จะช่วยปกป้องบุตรหลานให้เลือกเดินบนทางที่เหมาะสมและดูแลตนเองในสังคมออนไลน์อันกว้างใหญ่ ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี อย่าลืมว่าคุณไม่ได้เป็นแค่เพื่อนบนโลกออนไลน์ แต่เป็นพ่อแม่ของพวกเขาในชีวิตจริงด้วย และบทบาทในชีวิตจริงนั้นย่อมสำคัญกว่าเสมอ
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
Related Courses
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ
ไอเดียออกแบบ และจัดงานเลี้ยงอย่างมืออาชีพ
สร้างสรรค์ไอเดียการออกแบบงานเลี้ยงอย่างมืออาชีพ ด้วยการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงทั้งในชีวิตการทำงานแล ...
ไอเดียออกแบบ และจัดงานเลี้ยงอย่างมืออาชีพ
ต้องใช้ 100 เหรียญ
Micro Learning การดูแลสุขภาพใจ ป.1-3
การที่เด็กอารมณ์ดี มีความร่าเริงแจ่มใสจะมีผลต่อพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมอง จิตใจ และร่างกาย แต่หากอารมณ์ไม่ ...