“ตรีนุช” ยัน ศธ.ทำเต็มที่เพื่อแก้ปัญหาภาระงานครู
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการลาออกของข้าราชการครูว่าตนเข้าใจดีว่าขณะนี้ภารกิจของครูมีมากขึ้น เพราะจากสถานการณ์โควิดทำให้การบริหารจัดการศึกษามีความท้าทายมากขึ้น ซึ่งทำให้ครูต้องทุ่มเทกับการจัดการเรียนการสอนอย่างหนัก รวมถึงการดูแลเรื่องความปลอดภัย ในโรงเรียนทุกมิติ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พยายามจัดสรรงบประมาณในการจ้างครูธุรการ และนักการภารโรงเพื่อเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระงานครู ให้ครูทำหน้าที่สอนเพียงอย่างเดียว รวมถึงปรับระบบการประเมินผลงานครูต่างๆ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาลดการประเมินในรูปแบบเอกสารลง ซึ่งยอมรับว่าแม้เราจะพยายามวางแผนแก้ปัญหาทุกวิถีทาง แต่ก็ยัง ไม่เพียงพอ
“ดังนั้นที่ผ่านมาจึงพยายามแก้ไขปัญหา โดยพยายามคืนครูกลับสู่ห้องเรียน เพิ่มอัตราธุรการ ภารโรง เข้ามาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงานของครู โดยได้กำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เข้าไปดูแลความเหมาะสม โดยขอให้เร่งจัดสรรอัตราดังกล่าวให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนก่อนเป็นลำดับแรก” น.ส.ตรีนุช กล่าว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้เท่าที่ตนได้รับทราบข้อมูลส่วนใหญ่ปัญหาภาระงานครูจะไปกระทบโรงเรียนขนาดเล็ก เนื่องจากครูต้องทำหลายหน้าที่ทั้งจัดการเรียนการสอน การบริหารโรงเรียน งานธุรการ อย่างไรก็ตามปลายเดือน มิ.ย. นี้ จะมีการสอบเพื่อบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย ประจำปี 2566 และจะประกาศผลในเดือน ก.ค. ซึ่งเชื่อว่าเราจะได้ครูเข้ามาทดแทนอัตราว่างที่ขาดอยู่ 7,814 อัตรา และเท่าที่ทราบมียอดสมัครสอบเป็นข้าราชการครูกว่า 1.7 แสนคนด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเราเจอสถานการณ์โควิดและปรับระบบงานบริหารบุคคลจึงทำให้การสอบครูผู้ช่วยต้องล่าช้าออกไป จึงอาจทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งที่เราอาจได้ครูไม่ทันใช้ได้ ดังนั้นหากมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ก็อยากให้มีการจัดสรรงบประมาณด้านการจ้างบุคลากรครูธุรการและนักการภารโรงให้มากขึ้น เพราะจะช่วยบรรเทาภาระงานครูได้
และเมื่อจัดสอบและบรรจุเรียบร้อยแล้ว ก็จะช่วยผ่อนคลายภาระงานของครูได้มากขึ้น เป็นการคืนครูสู่ห้องเรียนได้ส่วนหนึ่ง ศธ. พยายามแก้ปัญหานี้ในทุกมิติ แต่เนื่องจากมีองคาพยพค่อนข้างใหญ่ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ในหลายส่วน ทั้งการปรับระบบการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ มาเป็นการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ว9/2564) หรือเกณฑ์ PA (Performance Agreement) ซึ่งจะมีการประเมินที่สอดคล้องกับลักษณะภาระงานของครู ประเมินผ่านระบบออนไลน์ ลดการทำเอกสาร เป็นต้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : www.naewna.com/local/736725
ข่าวที่เปิดอ่านมากที่สุด
รมว.ศึกษาฯ มอบนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ลดภาระครู –นักเรียน จัดหาแท็บเล็ตฟรี ลดความเหลื่อมล้ำการศึกษา
14.09.23
จังหวัดเชียงใหม่ ลงนาม MOU พร้อมนำร่อง จัดรูปแบบการศึกษา พัฒนาทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
14.08.23
‘คุรุสภา’ แถลงหลังมีประเด็นร้อง ‘รมว.ศธ.’ คืนคุรุสภาให้ ‘ครู’ ยกเลิกสอบ ‘ใบประกอบวิชาชีพครู’
08.09.23
“ตรีนุช” ฝากครูบรรจุใหม่ ขยันเก็บเกี่ยวประสบการณ์พัฒนาการศึกษา
17.08.23
"ตรีนุช" เตือนพวกเรียกใต้โต๊ะสอบครู เจอโทษวินัยสูงสุด ย้ำต้องโปร่งใสอย่าเล่นนอกกติกา
25.08.23
เสริมสร้างคุณธรรมเชิงสัมพัทธ์ พัฒนาทักษะ และสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 ด้วยกระบวนการ Active learning
29.08.23