Antisocial วัยรุ่นต่อต้านสังคมปัญหาพฤติกรรมที่ไม่ใช่แค่การเก็บตัว

“ไม่ชอบออกไปไหน วันๆ เก็บตัวอยู่ในห้อง ถามอะไรไม่ค่อยตอบ มีโลกส่วนตัวสูง” พฤติกรรมเหล่านี้ มักพบได้บ่อยจนเป็นเรื่องปกติของวัยรุ่นแทบทุกคน เพราะเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น พวกเขามักกำลังแสวงหาตัวตน บางคนอาจหมกมุ่นกับกิจกรรมหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเป็นพิเศษ จนดูเหมือนไม่สนใจสิ่งอื่นๆ รอบตัว เช่น หมกมุ่นกับศิลปินคนโปรด หรือหมกมุ่นอยู่กับเกมที่ชอบเล่น ฯลฯ
ผู้ใหญ่บางคนอาจพูดกันขำๆ ว่าวัยรุ่นมีพฤติกรรมไม่ชอบสังคมเป็นพวก Antisocial ซึ่งความจริงแล้ว พฤติกรรมข้างต้น แตกต่างจากอาการต่อต้านสังคมอย่างสิ้นเชิง เพราะพฤติกรรมข้างต้นเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติตามวัยที่พบได้ในวัยรุ่นปกติทั่วไป ที่แม้จะดูเหมือนเก็บตัวจากพ่อแม่ แต่พวกเขายังเข้าสังคมกับกลุ่มเพื่อน หรือกลุ่มที่มีความสนใจใกล้เคียงกัน ขณะที่วัยรุ่นที่มีภาวะ Antisocial หรือต่อต้านสังคมจริงๆ นั้น จะมีอาการที่รุนแรงกว่า หรืออาจเรียกได้ว่ามี บุคลิกภาพต่อต้านสังคม ซึ่งเป็นความผิดปกติทางจิตรูปแบบหนึ่ง
บุคลิกภาพต่อต้านสังคมคืออะไร
บุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder หรือ ASPD) เป็นความผิดปกติทางจิตรูปแบบหนึ่ง ทำให้ผู้ป่วยมีนิสัยแข็งกระด้าง ก้าวร้าว ไม่เคารพในสิทธิของผู้อื่น มีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรง ซึ่งมักเริ่มแสดงอาการชัดเจนในช่วงวัยรุ่น หากไม่รักษาอาจส่งผลกระทบต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม อย่างร้ายแรงได้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าบุคลิกภาพต่อต้านสังคม คือ พวกที่ชอบเก็บตัว ไม่ยอมไปไหน ไม่ค่อยคุยกับใคร จริงๆ แล้ว คนที่ชอบเก็บตัว อาจเป็นเพียงคนขี้อาย โลกส่วนตัวสูง หรือเป็น Introvert ซึ่งเป็นนิสัยส่วนตัวที่ไม่ได้ผิดปกติหรือส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างแต่อย่างใด ตรงข้ามกับคนที่มีบุคลิกต่อต้านสังคม ที่ไม่เพียงพวกเขาจะไม่ชอบเข้าสังคมแล้ว ก็ยังไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ยึดถือความพึงพอใจของตัวเองเป็นหลัก และมักไม่พอใจเมื่อต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่ขัดแย้งกับความต้องการของตน จึงมีพฤติกรรมแหกกฎ หรือความรุนแรงบ่อยครั้ง
ทั้งนี้ บุคลิกต่อต้านสังคม มักพบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง สาเหตุที่แน่ชัดยังไม่สามารถระบุได้ แต่พบว่าปัจจัยด้านพันธุกรรมหรือยีนอาจมีผลทำให้เกิดความผิดปกติ นอกจากนี้ยังพบว่าความผิดปกติของสมองอาจเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมได้ เช่น สารเคมีในสมองไม่สมดุล พัฒนาการทางสมองบกพร่อง หรือการได้รับอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนต่อการทำงานของสมอง เป็นต้น
การเลี้ยงดู ก็อาจมีส่วนทำให้เกิดบุคลิกภาพต่อต้านสังคม กล่าวคือ เด็กที่เติบโตมากับความรุนแรง เห็นพ่อแม่ทำร้ายกัน หรือตนเองถูกทำร้ายร่างกาย ถูกบูลลี่ในโรงเรียน ก็อาจส่งผลให้เกิดบุคลิกภาพต่อต้านสังคมได้เช่นกัน
บุคลิกต่อต้านสังคมแสดงออกอย่างไร
คู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ฉบับที่ 5 (DSM-5) ได้จำแนกเกณฑ์การวินิจฉัยโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมไว้ ดังนี้
- ขาดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
- อารมณ์แปรปรวน ฉุนเฉียวง่าย และมีพฤติกรรมก้าวร้าว
- หุนหันพลันแล่น ขาดความยั้งคิด
- ละเมิดกฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานของสังคมบ่อยครั้ง
- มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงที่ละเมิดต่อสิทธิทางร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่น
- ไม่มีความรับผิดชอบ ส่งผลให้การใช้ชีวิตครอบครัว การเรียน หรือการทำงานไม่มีคุณภาพ
- เสแสร้งและโกหกหลอกลวง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการ
- เคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีพฤติกรรมเกเรคล้ายอันธพาล (Conduct Disorder) ตั้งแต่เด็ก หรือยังมีพฤติกรรมต่อเนื่องอยู่
สัญญาณเบื้องต้นของบุคลิกภาพต่อต้านสังคม
หากพ่อแม่พบว่าลูกมักมีพฤติกรรมเกเร ถูกเรียกเข้าห้องปกครองซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือทำผิดซ้ำๆ โดยไม่แสดงอาการสำนึกผิด ทั้งยังไม่ค่อยคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น ชอบแสดงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้ทั้งตนเองหรือผู้อื่นได้รับอันตรายโดยไม่รู้สึกเกรงกลัว นี่ก็อาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นของบุคลิกภาพต่อต้านสังคมได้อย่างไรก็ตาม แพทย์จะไม่วินิจฉัยว่าเด็กมีอาการต่อต้านสังคมจนกว่าจะอายุ 18 ปีขึ้นไป เพราะพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนวัย 18 ปี อาจเป็นความท้าทาย อยากรู้อยากลองตามวัย หรืออาจมาจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม แต่หากวัยรุ่นเกเรมากกว่าปกติ แพทย์อาจวินิจฉัยว่ามีพฤติกรรมเกเรคล้ายอันธพาล (Conduct Disorder) ก่อนอายุ 15 ปีได้ หรือมีพฤติกรรมผิดปกติที่สังเกตเห็นได้ของโรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมตามเกณฑ์ DSM-5 อย่างน้อย 3 อาการก่อนอายุ 15 ปี รวมไปถึงผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับความผิดปกติทางจิต อย่างโรคจิตเภท (Schizophrenia) หรือโรคไบโพลาร์ (Bipolar) อย่างไรก็ตามผู้ป่วยส่วนมากมักไม่ได้เข้ารับการรักษาโรคบุคลิกต่อต้านสังคมโดยตรง เนื่องจากคิดว่าตนเองไม่มีความผิดปกติใด ๆ แต่อาจมาพบแพทย์เมื่อมีปัญหาอื่น เช่น การติดสุราหรือใช้สารเสพติด การป่วยด้วยโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล ทำให้โรคบุคลิกภาพต่อต้านสังคมไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
พ่อแม่ทำอย่างไรหากลูกมีบุคลิกภาพต่อต้านสังคม
เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าลูกอาจมีอาการบุคลิกภาพต่อต้านสังคม สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือพาลูกเข้ารับการรักษา อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่หายเองได้ เพราะหากยิ่งทิ้งไว้อาจส่งผลเสียต่อลูกและคนใกล้ตัว โดยแพทย์อาจทำการรักษาด้วยวิธีจิตบำบัด ควบคู่ไปกับการใช้ยา ซึ่งการรักษาอาจแตกต่างกันตามอาการและปัญหาของผู้ป่วย พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรค่อยๆ พูดโน้มน้าวให้เข้าพบจิตแพทย์ ควรเลือกใช้คำพูดที่แสดงความเข้าใจและห่วงใยสุขภาพของวัยรุ่น หรืออาจให้คนที่วัยรุ่นเชื่อใจสนิทใจ เป็นคนช่วยพูดชักจูง การเจรจาควรทำอย่างใจเย็น ไม่เร่งรัด เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้อื่น ในกรณีที่วัยรุ่นมีก้าวร้าวรุนแรงสิ่งสำคัญคือพ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ควรโทษตัวเอง เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว การมองไปข้างหน้าและหาวิธีแก้ไขย่อมดีกว่าการมองไปในอดีต เพราะโรคนี้อาจเกิดจากหลายสาเหตุ หากพ่อแม่ทำดีที่สุดแล้ว เรื่องของพันธุกรรมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
สุดท้ายแล้วการเข้าพบจิตแพทย์ จึงไม่เพียงดีต่อตัวผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องดูแลวัยรุ่นที่มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคมด้วย เพราะจะช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองเรียนรู้วิธีการรับมือป้องกันตนเอง รวมทั้งการดูแลจิตใจตนเองให้เข้มแข็งในช่วงเวลายากลำบากนี้ด้วย
แหล่งอ้างอิง (Sources) :
How to Identify a Teenage Personality Disorder
Image สุขภาพ รู้จักกับบุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder)
Related Courses
ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
ภัยในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ของเรา ดังนั้นผู้ปกครองหรือคุณครูควรสอนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เพื่อให้เด็กมี ...



ฝึกเด็กเล็กเอาตัวรอดจากภัยในชีวิตประจำวัน
How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
การสื่อสารภาษาอังกฤษ ใครว่ายาก? หากเราเข้าใจ และสื่อสารมันจากความรู้สึก และไม่ต้องกังวลจนเกินไป ในคอร์สเรียนนี้เราจ ...



How to พูดอังกฤษยังไงให้เป๊ะ แบบไม่เน้นท่องจำ
ต้องใช้ 100 เหรียญ
การซ่อมแซมของใช้ในชีวิตประจำวัน
อุปกรณ์ของใช้ในบ้านเมื่อใช้ไประยะหนึ่งอาจชำรุดเสียหายได้ ถ้าเรารู้จักวิธีซ่อมแซมจะทำให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกซึ่งเป็นการประหยั ...



How to เรียนรู้ รักให้เป็น
คอร์สเรียน How to เรียนรู้ รักให้เป็นนี้ จะเป็นคู่มือความรักสำหรับคนที่มีหัวใจ ให้ทุกคนได้เข้าใจความหมายของการรักที่ใช้ 'หัว' ...



How to เรียนรู้ รักให้เป็น
ต้องใช้ 100 เหรียญ
Related Videos


108 ปัญหาพ่อแม่ และลูกวัยรุ่น


เราควรเลี้ยงลูกแบบไหน? แบบเพื่อน vs แบบพ่อแม่


EP:1 Chef’s Table Eat & EDUCATE How to พ่อแม่ยุคใหม่ ทำงานเก่ง เลี้ยงลูกเป็นเลิศ

